สรรพากรหารือไมโครซอฟท์ลงทุนสร้างถังข้อมูลภาษีดิจิทัล
สรรพากรเล็งสร้างถังข้อมูลภาษีดิจิทัล เพื่อสร้าง Chatbot ในการตอบคำถามเกี่ยวกับภาษีสรรพากรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเร็วๆนี้จะหารือไมโครซอฟท์ผู้ลงทุนผลิตแอป Chat GPT เพื่อลงทุนในระบบดังกล่าว
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผย กรมสรรพากร เตรียมสร้างถังข้อมูลดิจิทัล เพื่อสร้าง Chatbot ในการตอบคำถามเกี่ยวกับภาษีของกรมสรรพากร โดยเร็วๆนี้เตรียมหารือกับบริษัทไมโครซอฟท์ในประเด็นการนำ Chatbot App ที่เรียกว่า Chat GPT เพื่อใช้ตอบคำถามเกี่ยวกับภาษีของกรม เพื่อให้คำตอบเป็นแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการเอื้ออำนวยให้กับประชาชนที่มีปัญหาด้านภาษีอากร และต้องการคำตอบเพื่อให้สามารถเสียภาษีได้ถูกต้อง ลดปัญหาข้อขัดแย้งทางภาษี
เขากล่าวว่า ถังข้อมูลดิจิทัล ดังกล่าวนั้น จะถือเป็นครั้งแรกที่กรมฯจะนำเอกสารทางภาษีต่างๆของกรมมาสแกนเป็นดิจิทัลรวมไว้ในที่เดียว เพื่อให้สามารถค้นหาได้ง่าย ผ่าน Chat GPT ไม่ว่าจะเป็นประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายภาษีหลักของกรมสรรพากร คำพิพากษาของศาลภาษีในเรื่องต่างๆ รวมถึงข้อหารือที่มีคนถามเข้ามายังกรมสรรพากรและกรมฯได้ตอบข้อหารือเหล่านั้นออกไป เป็นต้น
“ทุกวันนี้ เวลามีคำถามเกี่ยวกับการแสดงแบบรายการชำระภาษี ทางเจ้าหน้าที่กรมฯยังตอบคำถามที่มีความแตกต่างกัน บางคนบอกว่า อย่างนี้ทำได้ แต่อีกคนบอกว่า ทำไม่ได้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับภาษีกรมสรรพากรทั้งหมดมาไว้ในถังดิจิทัล ถ้ามีใครถามอะไรมา จะได้มีมาตรฐานในการตอบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจในการตอบของเจ้าหน้าที่”
Microsoft หนึ่งในบริษัทที่ร่วมลงทุนสร้าง Chat GPT ซึ่งเป็นระบบการวิเคราะห์ข้อความดิจิทัลจำนวนมหาศาลทั้งในหนังสือ บทความ Wikipedia โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และข้อมูลบันทึกการสนทนา ซึ่งต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ Chat GPT App เปิดตัวช่วงปลายเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมาทั้งนี้ เนื่องจาก ChatGPT ถูกพัฒนาให้จดจำข้อความจากอินเทอร์เน็ต สำหรับตอบคำถามและแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้ทุกข้อสงสัย ภายใต้การตอบกลับที่เป็นธรรมชาติ คล้ายกับมนุษย์ เรียกได้ว่า สามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาด
ChatGPT ย่อมาจากคำว่า "Chat" และ "Generative Pre-training Transformer" หรือก็คือ โมเดลภาษาที่ถูกเขียนขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานและตอบโจทย์กับทุกคำถามหรือข้อสงสัยได้อย่างครอบคลุมเช่น การให้ข้อมูล สูตรอาหาร แก้โจทย์คณิตศาสตร์ เขียนโค้ด เขียนโปรแกรมเบื้องต้น แต่งเพลง จัดทริปการเล่นมุกตลก
ในขณะเดียวกัน กรมสรรพากร ก็สร้าง Digital Tax Road Map เป็นเป้าหมายในการนำผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร ที่มีมากกว่า 10 ล้านราย เข้าสู่ระบบภาษีแบบดิจิทัล โดยในปีนี้กรมสรรพากร จะเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีที่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง และลดข้อผิดพลาดของการยื่นภาษี ด้วยการให้มีผู้อำนวยความสะดวกที่เรียกว่า Service Provider โดยในปีนี้จะให้ Service Provider สามารถนำส่งใบกำกับภาษีของผู้เสียภาษี ให้กับกรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง เก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แทนผู้เสียภาษี
ปี 2567 จะเพิ่มหน้าที่ให้ Service Provider เป็นผู้ยื่นภาษีแทนผู้เสียภาษีได้เลย ปี 2568 ผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องนำส่งรายงานภาษีซื้อ และภาษีขาย และจัดทำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ปี2570 ผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องยื่นแบบชำระภาษีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 2571 ผู้ประกอบการทุกรายในประเทศจะต้องยื่นภาษีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
กรมสรรพากร ถือเป็นกรมฯจัดเก็บภาษีที่ทำรายได้ให้รัฐบาลสูงสุด จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ ที่ได้ประมาณการรายได้ประเภทภาษีอากรรวม จำแนกตามหน่วยงานที่จัดเก็บ ประจำปีงบประมาณ 2566 คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิรวม 2.49 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร61.3 % ,ของกรมสรรพสามิต 22.7 % และของกรมศุลกากร 3.9 % ที่เหลือเป็นเป็นการจัดเก็บของหน่วยงานอื่นๆ ,สำหรับในช่วง 8เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565 ถึง พ.ค.2566) กรมสรรพากรยังสามารถจัดเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าหมาย โดยจัดเก็บได้ 1.304 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.34 แสนล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 11.5 %