ฟันด์โฟลว์ ‘ชาติอาหรับ’ ไหลเข้า ‘จีน’ อื้อ ดันมูลค่าลงทุนทะลุ 1,000%
มูลค่าการซื้อกิจการ-ลงทุนโดยตรงในจีนจากบริษัทสัญชาติอาหรับปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 1,000% จากปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 5.3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.749 แสนล้านบาท) แม้นักวิเคราะห์ประเมินยังต้องพึ่งพาอานิสงส์สหรัฐเรื่องความมั่นคง
Key Points
- มูลค่าการซื้อกิจการ-ลงทุนโดยตรงในจีนจากบริษัทสัญชาติอาหรับปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 1,000% จากปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ5.3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.749 แสนล้านบาท)
- บริษัท ซินเจนตา กรุ๊ป (Syngenta Group) จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จ่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ด้วยมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.97 แสนล้านบาท)
- นักวิเคราะห์ประเมินชาติอาหรับยังต้องพึ่งพาสหรัฐในเรื่องความมั่นคง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า เม็ดเงินลงทุนจากชาติตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดามหาเศรษฐีไหลเข้าไปในจีนอย่างมาก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐและประเทศในแถบตะวันออกกลางในอนาคต
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา หลังจาก สี จิ้นผิง (Xi Jingping) ประธานาธิบดีจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองริยาด เมืองหลวงของประเทศซาอุดีอาระเบีย หลังจากนั้นเป็นต้นมา การแลกเปลี่ยนทรัพย์ยากรทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าแค่การซื้อ-ขายพลังงาน
โดยหนึ่งในข้อตกลงทางการค้าที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการลงทุนโดยตรงของซินเจนตา กรุ๊ป (Syngenta Group) ที่จ่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ด้วยมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.97 แสนล้านบาท) พร้อมทั้งกลุ่มทุนชื่อดังอย่าง หน่วยงานการลงทุนอาบูดาบี (Abu Dhabi Investment Authority) และ กองทุนรวมเพื่อการลงทุนภาครัฐ (Public Investment Fund) ของซาอุดีอาระเบีย
นอกจากนี้ หากอ้างอิงตามข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พบว่า มูลค่าการซื้อกิจการและลงทุนโดยตรงในจีนจากบริษัทสัญชาติอาหรับปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000% จากปีก่อน มาอยู่ในระดับ 5.3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.749 แสนล้านบาท)
ขณะที่กองทุน มูบาดาลา อินเวสเม้นท์ (Mubadala Investment) ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารถึง 2.8 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.24 ล้านล้านบาท) ต่างเตรียมเข้ามาลงทุนในจีนเช่นเดียวกัน
ส่วนยอดการลงทุนโดยตรงจากบรรดาบริษัทในนครดูไบ เมืองใหญ่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ขยายตัวขึ้น 24% จนทางการซาอุดีอาระเบียมองว่า จีนเป็น “พันธมิตรที่ขาดไม่ได้” สำหรับโครงการวิชชั่น 2023 (Vision 2030) ในการช่วยยกระดับประเทศในทุกมิติ
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์จากบรรดาประเทศอาหรับ ระบุว่า การพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแทนที่สหรัฐ แต่เป็นเพียงการขยายฐานพันธมิตรให้กว้างมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การค้าขายระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาหรับยังเป็นเพียง “การซื้อ-ขายน้ำมัน” เท่านั้น ซึ่งเมื่อปีก่อนหน้า ปริมาณการค้าระหว่างซาอุดีอาระเบียกับจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.17 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.861 ล้านล้านบาท) เทียบกับมูลค่า 834 ล้านดอลลาร์ (2.7 หมื่นล้านบาท) เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
สอดคล้องกับปริมาณการค้าขายระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับจีนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่า เป็น 1.07 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.531 ล้านล้านบาท) จาก 1.15 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.79 หมื่นล้านบาท) เมื่อปี 1992
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับชาติอาหรับยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทหาร เพราะสหรัฐมีฐานทัพอยู่ในกลุ่มประเทศอาหรับ และยังคงเป็นประเทศที่มีปริมาณการลงทุนในซาอุดีอาระเบียมากที่สุด
ด้าน กาเลีย ลาวี (Galia Lavi) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีนและตะวันออกกลาง จากสถาบันด้านความมั่นคงศึกษาในเมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศอาหรับยังไม่มีทางเลือกในการทดแทนความสัมพันธ์กับสหรัฐอย่างแท้จริง “จีนไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงใดๆ กับกลุ่มประเทศดังกล่าว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีในการเปิดรับผลประโยชน์ที่เหมาะสมจากทั้งสองชาติมหาอำนาจ”