เงินเฟ้อร่วง เศรษฐกิจหล่น ลงทุนอะไร
ในปัจจุบัน หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐมีทิศทางชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft landing) ขณะที่เงินเฟ้อก็ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวก่อนคงดอกเบี้ยไปทั้งปีนี้
ด้านเงินเฟ้อที่อื่น ๆ ก็ลดลงเช่นกัน ทั้งในยุโรป และอังกฤษ ทำให้ดูเหมือนว่าความจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยลดลง แต่เงินเฟ้อสหรัฐที่ดูเหมือนจะลดลงแรงกว่าที่อื่น ๆ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐครั้งนี้จะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้าย ส่งผลให้ตลาดหุ้นยังคงไปต่อได้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจแล้ว จะเริ่มเห็นว่าเป็นไปในทิศทางชะลอตัวมากขึ้น โดยหากพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของ Conference Board ที่ใช้วัดวัฏจักรธุรกิจของสหรัฐ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ในเดือน มิ.ย. ผลจากความคาดหวังของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง
คำสั่งซื้อใหม่ที่อ่อนแอลง จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ขั้นต้นในเดือน ก.ค. ของยุโรปและญี่ปุ่น ที่ลดลงเกินคาด โดยภาคการผลิตหดตัวแรงขึ้น ขณะที่ภาคบริการชะลอลงต่อ บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุโรปและญี่ปุ่นจะชะลอตัวมากขึ้น
ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ Soft Landing โดยแม้ว่าเงินเฟ้อของอเมริกาจะลดลงเหลือ 3% ในเดือน มิ.ย. ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของ Fed ในวันที่ 26 ก.ค. จะเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1-2 ครั้ง ทำให้หุ้นปรับตัวดีขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแรง
เสริ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐและโลกยังเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปจากความเสี่ยง 3 ประการ ประการแรก ได้แก่ เงินเฟ้อในเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วจะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่อัตรา 3-4% จะไม่รุนแรงเท่าช่วงก่อน (ที่ 8-9%) แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับธนาคารกลาง และอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากกว่าที่คาดไว้
ความเสี่ยงประการที่สองคือ ตลาดแรงงานของสหรัฐ ที่เริ่มลดความร้อนแรงลงจากการลดตำแหน่งงานว่างมากกว่าการปลดคนงาน ทำให้ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) เริ่มลดลง แต่อัตราว่างงานยังไม่ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในอนาคต การว่างงานอาจมีมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ ยังมีแผลเป็น (scar) จากการขาดแคลนแรงงานหลังเปิดเมือง ทำให้ยังกังวลที่จะรีบปรับลดคนงาน จึงยังคงจ้างพนักงานที่เกินจำเป็น แต่หากบริษัทต่าง ๆ ตัดสินใจว่ามีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปที่จะจ้างคนงานที่อาจจำเป็นหรือไม่ต้องการในอนาคต การเลิกจ้างอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความเสี่ยงประการที่สามคือความแตกต่างระหว่างกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก แม้ว่าแรงกดดันต่อ Fed จะยุติลง ผู้กำหนดนโยบายในที่อื่นๆ ก็ยังคงกังวล เช่น ในสหราชอาณาจักรที่อัตราเงินเฟ้อที่ 7.9% ปรับลดลงมากกว่าที่คาดไว้ที่ 8.2% ในเดือน มิ.ย. แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง และทำให้ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ด้านญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มเข้มงวดทางการเงิน ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจยุติมาตรการ Yield Curve Control ในปลายเดือนนี้ ขณะที่จีนอาจเผชิญกับการชะลอตัวของการเติบโตเชิงโครงสร้าง (Secular Stagnation) เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง
ภาพต่าง ๆ ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่า 1.เงินเฟ้อสหรัฐจะไม่สามารถลดลงได้รวดเร็วอีกในระยะต่อไป เนื่องจากองค์ประกอบของเงินเฟ้อในปัจจุบัน (อันได้แก่ ค่าเช่าและค่าจ้าง) มีความหนืดมากกว่าในอดีต และตอบสนองต่อการปรับลดลงของราคาโภคภัณฑ์ได้ยากกว่า ซึ่งจะทำให้ Fed ต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานขึ้น
2. ดอกเบี้ยระดับสูง และสภาพคล่องในภาคเศรษฐกิจจริง (ประชาชนและภาคธุรกิจ) ที่ตึงตัวขึ้นจากดอกเบี้ยในระดับสูงจะกดดันกำลังซื้อ พร้อม ๆ กับเงินออมส่วนเกินที่หมดลง ซึ่งจะทำให้ยอดขายลดลง และทำให้ธุรกิจต้องเริ่มปรับลดคนงานลง ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต 3.นโยบายการเงินที่ยังตึงตัวทั่วโลก ประกอบกับเศรษฐกิจสำคัญอย่างจีนที่ชะลอลงเกินคาดจากภาวะเงินฝืด จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรงขึ้นในครึ่งหลังของปี
ด้วยภาพเศรษฐกิจโลกดังกล่าว ทำให้เรามีมุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์ใน 3-6 เดือนข้างหน้า ดังนี้คือ
1. ในส่วนของตราสารหนี้ เราแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะสหรัฐ เนื่องจากหากเศรษฐกิจชะลอลงตามที่เราคาด ผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้สูงในขณะนี้น่าสนใจ ขณะที่ตราสารหนี้เอกชนระดับ Investment Grade ยังสามารถลงทุนได้ แต่ High Yield ไม่น่าสนใจ
2.ในส่วนของตราสารทุน เราให้ลดน้ำหนักในการลงทุนตลาดพัฒนาแล้ว และคงน้ำหนักในการลงทุนในญี่ปุ่น จีน และไทย อย่างไรก็ตาม แม้ราคาหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วจะค่อนข้างแพง แต่หุ้นบางกลุ่มยังมีศักยภาพและน่าลงทุนได้ต่อเนื่อง โดยเราให้กลยุทธ Barbell คือซื้อ/ถือหุ้นในกลุ่มปลอดภัยส่วนหนึ่ง และกลุ่มเทคโนโลยีส่วนหนึ่ง (ซึ่งจะได้ผลตอบแทนดีหากผลตอบแทนพันธบัตรลดลง) ขณะที่อาจลงทุนได้ในตลาดเกิดใหม่ เช่น ตลาดอินเดียและตลาดเวียดนามที่ดูดีที่สุดในเชิงโมเมนตัม และ
3. สินทรัพย์ทางเลือก เรามีมุมมองเป็นกลางต่อ อสังหาริมทรัพย์/REIT ประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อ REIT ไทยและอาเซียน ซึ่งเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านราคาน้ำมันเริ่มเห็นทิศทางปรับตัวดีขึ้นหลังกลุ่ม OPEC+ ยังคงควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อพยุงราคาไม่ให้ต่ำเกินไป ถือเป็นโอกาสการลงทุนระยะสั้น นอกจากนี้ เรายังแนะนำให้ถือลงทุนทองคำไว้บ้างเพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน
- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX
- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน
โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm
- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher
#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้