ธปท.ปัก 3 หมุด เข็น ‘สถาบันการเงิน’สู่ความยั่งยืน
ธปท.ปัก 3 หมุด หนุนสถาบันการเงินสู่ความยั่งยืน สามารถปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หวังแยกแยะความเสี่ยงของพอร์ต ควบคู่กับ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนและตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวในงานสัมนา ESG Game Changer เปลี่ยนให้ทันโลก ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจว่า ปัจจุบัน เราเห็น เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวผ่านภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ร้อนนาน หนาวสั้น น้ำท่วมหนัก อย่างฝนตกหนักอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งประเทศไทยอยู่รั้งอันดับเกือบท้ายในด้านขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ เราเป็นอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ และมีการคาดการณ์ว่าหากเรายังไม่ลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลในปี 2050 คิดเป็นร้อยละ 43 ของ GDP
นอกจากผลกระทบทางกายภาพ ประเทศไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากนโยบาย มาตรการของต่างประเทศด้านการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิธีปฏิบัติของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศขนาดเล็กอย่างไทยจำเป็นต้องปรับตัวเตรียมพร้อมรับผลกระทบตามไปด้วย เห็นได้ชัดจากสหภาพยุโรปที่เตรียมใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 สำหรับสินค้านำเข้าในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และปุ๋ย โดยคาดว่าจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตมากกว่า 1,000 ราย คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 18,000 ล้านบาท และคาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็เตรียมออกมาตรการลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเชิงธุรกิจให้เห็นชัดขึ้นอีก หากญี่ปุ่นเปลี่ยนทิศทางการผลิตจากรถยนต์ประเภทสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต ชิ้นส่วนประกอบทั้งหมด 30,000 ชิ้นจะเหลือเพียง 1,500 – 3,000 ชิ้น
ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือยิ่งไปกว่านั้นหากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่นขานรับเรื่อง Net Zero ตลอดวงจรการผลิต แน่นอนว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะอยู่ในโลกเก่าไม่ได้เหมือนเดิม
•ในภาคการเกษตรก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะสหภาพยุโรปเตรียมออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อควบคุมกลุ่มสินค้าที่มีส่วนในการทำลายป่าจำนวน 7 ประเภท
ไม่ว่าจะเป็นยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ และถั่วเหลือง ซึ่งผู้นำเข้า จะต้องพิสูจน์ให้ได้สินค้านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
หรือในภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว Gen Y และ Z เริ่มใส่ใจในการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเข้าพักในโรงแรมที่จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำเพื่อประหยัดน้ำซักล้างที่เป็นต้นตอของคำว่า “Greenwashing” ที่เราคุ้นเคยกันดี
ดังนั้น Game Changer ด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มเกิดขึ้นแล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างกะทันหันฉับพลัน ความถี่ของการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจะเห็นน้อยลง จากที่เรามีทางเลือก กลายเป็นเราเหลือเพียงทางรอดซึ่งนับว่านี่เป็นช่วงเวลาท้าทายอย่างยิ่ง
ดังนั้น ความยั่งยืนจึงเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้มีอุปสรรคน้อยที่สุด และภาคการเงินจะช่วยสนับสนุนการปรับตัวนี้ได้อย่างไร โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศ ตลอดจนสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนและการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ
• สำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เราได้กำหนดการดำเนินงานด้านสังคมและธรรมาภิบาล ด้าน S และ G เป็นพันธกิจหลักขององค์กรและผลักดันให้เกิดผลมาโดยตลอด ในด้านสังคม ธปท. ได้ออกนโยบายคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
ส่วนด้านธรรมาภิบาล ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน และการกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม ล่าสุดได้ออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น
โดยจะยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้โดยเริ่มจากการให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และยังต้องดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้มีทางออกปิดจบหนี้ได้
ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาคการเงินในฐานะตัวกลางจัดสรรเงินทุนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการปรับตัวโดยคำนึงถึง “timing” และ “speed” เพื่อให้การดำเนินงานนั้น “ไม่ช้าเกินไป” จนเกิดผลกระทบโดยไม่สามารถแก้ไขได้ และ “ไม่เร็วเกินไป” จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ธปท. ร่วมกับหน่วยงานในภาคการเงินผลักดันให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการดำเนินธุรกิจผ่านการวางรากฐานสำคัญ (building blocks) 5 ด้าน
เพื่อให้ภาคการเงินสามารถสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุด โดยมี 2 ใน 5 ด้านที่ได้ดำเนินการจนเป็นรูปธรรมแล้ว
• ด้านที่ 1 คือ ธปท. ได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีหรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน(Standard Practice) โดยออกแนวนโยบาย เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการทำงาน
ซึ่ง ธปท. จะใช้เป็นกรอบในการติดตามให้สถาบันการเงินมีการดำเนินการที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยง
• Standard Practice นี้แนะนำให้สถาบันการเงินมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบที่ 1 คือ โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ ธปท. คาดหวังให้สถาบันการเงินมีการกำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้มีTone from the top ที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าสถาบันการเงินบางแห่งได้แต่งตั้ง Chief Sustainability Officer หรือจัดตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืนขึ้นเพื่อผลักดันแผนการดำเนินงานและสื่อสารนโยบายความยั่งยืนของกิจการแล้ว
องค์ประกอบที่ 2 ธปท. คาดหวังให้สถาบันการเงินมีการกำหนดกลยุทธ์ที่ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน รวมถึงมีการประเมินผลสัมฤทธิ์และสร้าง engagement กับผู้เกี่ยวข้อง
เห็นได้ชัดคือเริ่มมีสถาบันการเงินในไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero Emission ของการดำเนินงานธนาคารในปี 2030 และเป็น Net Zero Bankingหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดในปี 2050 แล้ว ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง
องค์ประกอบถัดมาคือ สถาบันการเงินสามารถระบุ ควบคุม ติดตาม และรายงานความเสี่ยงของตนได้ หรือมีการบริหารความเสี่ยงที่ผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ผมเห็นสัญญาณดีที่สถาบันการเงินหลายแห่งได้เริ่มวัดและเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว หรือเริ่มคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานPartnership for Carbon Accounting Financials
รวมถึงมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบจากความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนขึ้นเพื่อคาดการณ์และจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
องค์ประกอบสุดท้ายคือ การเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมและสามารถรองรับโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยระบุเป้าหมาย ผลการดำเนินงาน และฐานะความเสี่ยงทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ
รวมถึงสามารถเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากลได้ องค์ประกอบนี้มีพลวัตรให้เห็นเด่นชัด สังเกตจากรายงานความยั่งยืนประจำปีที่สถาบันการเงินในไทยทยอยจัดทำและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกลุ่มสถาบันการเงิน ธปท. มุ่งหวังให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานในระดับสากล เช่น แนวทางของ Taskforce on Climate-related Financial Disclosures หรือ TCFD โดยเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลในระดับขั้นต่ำก่อน
ด้านที่ 2 คือการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจและองค์กรต่างๆ และช่วยลดปัญหาการกล่าวอ้างเกินจริงหรือ greenwashing
ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เงื่อนไขและตัวชี้วัดที่ชัดเจน สอดคล้องกับบริบทของประเทศและเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตาม Paris Agreement
วัตถุประสงค์หลักของการมี Taxonomy คือเพื่อกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของแต่ละคนให้เข้าใจและยอมรับตรงกันเพราะการที่ภาคการเงินจะสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุดจำเป็นต้องทราบก่อนว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กร
หรือ ธุรกิจ มีสถานะการดำเนินการอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระดับใด จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มสีเขียวหรือไม่ ถ้าไม่ เราอยู่ห่างจากความ “เขียว” แค่ไหน จะได้เตรียมการและดำเนินการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องสามารถประเมินสถานะของพอร์ตตนเองได้ว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้
แม้ว่าในหลายประเทศจะมีการกำหนดนิยามความเขียวขึ้นมาแล้ว แต่บริบทของไทยก็ไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศ
ดังนั้น ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มี Thailand Taxonomy ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล โดยได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566
ผมขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า Taxonomy ไม่ใช่ Tax หรือการเก็บภาษีนะครับ ไม่ได้บอกว่ากิจกรรมใดหรือโครงการใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” ไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ห้ามปล่อยกู้หรือลงทุนแต่อย่างใด เพียงแต่จัดหมวดหมู่เท่านั้น
โดยหากดูตัวอย่างของพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ให้แก่ธุรกิจพลังงาน สามารถแบ่งเป็นกลุ่มเขียว เหลือง และแดงตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงาน โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวให้มีสัดส่วนกิจกรรมสีเขียวสูงขึ้น ลดสัดส่วนกิจกรรมสีเหลืองและแดงอย่างเป็นระบบ โดยไม่เกิดการสะดุด ชะงักงันของระบบเศรษฐกิจการเงิน
ในระยะถัดไป เราจะทยอยทำในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการก่อสร้าง และภาคการจัดการของเสีย เป็นต้น โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดของ Thailand Taxonomy รวมถึงเอกสารแสดงวิธีการใช้งานได้เพียงสแกน QR Code ที่ปรากฏบนสไลด์ครับ
ด้านที่ 3 ถึง 5 ใน Building Blocks ธปท. เดินงานเพื่อสนับสนุนรากฐานอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคการเงินให้เป็นฟันเฟืองในการสนับสนุนการปรับตัวสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางสนับสนุนการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบและการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การผลักดันมาตรการสร้างแรงจูงใจต่างๆ
ในปีที่ผ่านมา ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ภายใต้ “พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564” ให้ครอบคลุม “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ลงทุนในการเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
ซึ่งรวมถึงการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ต่ออายุมาตรการออกไปจนถึงเดือนเมษายน 2567 และรากฐานสุดท้ายคือการวางแผนพัฒนาบุคลากรให้มีความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
ธปท. คาดหวังว่าการวาง building blocks จะช่วยสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหมุดหมายหลัก 3 จุด
หมุดหมายที่ 1 ธปท. มุ่งหวังให้สถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงของพอร์ตตัวเองได้ โดยมีการจัดกลุ่มลูกหนี้และทราบภาคธุรกิจที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ ของ พอร์ตตนเองที่มีผลกระทบสูงด้าน high emission
หมุดหมายที่ 2 สถาบันการเงินจะเริ่มวาง transition planหรือแผนการปรับตัวที่น่าเชื่อถือและสามารถปฏิบัติได้จริงสถาบันการเงินต้องกำหนดเป้าหมาย sector ที่ต้องการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
และผนวกเป้าหมายเป็นพันธกิจขององค์กร วัดผลได้ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ดังเช่นที่สถาบันการเงินที่มีสมาชิกของ Net-Zero Banking Alliance ภายใต้องค์กรสหประชาชาติได้ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว
หมุดหมายที่ 3 สถาบันการเงินจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยสนับสนุนและตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว ยกตัวอย่างเช่นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน(Sustainable loan) ที่ครอบคลุมทุกมิติของ ESG และสินเชื่อสีเขียว (Green loan)
จากหมุดหมายทั้ง 3 จุดข้างต้น ซึ่งจะนำไปสู่ Journey แห่งการปรับตัวนี้ ปัจจัยสำคัญคือ “ข้อมูล” ต้องยอมรับว่าภาคการเงินไม่สามารถเดินทางตาม Journey นี้ได้ด้วยตัวเองจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ภาคธุรกิจจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินให้มีข้อมูลการดำเนินงานของธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินรู้สถานะ ช่วยลูกค้าวางแผนการปรับตัว และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ การมีข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค และลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่อาจเกิดจาก Greenwashing ได้
สุดท้ายนี้ การผลักดันและพัฒนาให้ประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติของ ESG ในระยะข้างหน้าไม่สามารถทำได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคสังคม และภาคการเงิน ภาครัฐไม่สามารถออกนโยบายได้หากไม่เข้าใจความต้องการและความพร้อมของภาคเอกชน
จากภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้หากขาดเงินทุนที่มีต้นทุนเหมาะสม และในขณะเดียวกันภาคการเงินก็ไม่สามารถมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมหากขาดข้อมูลจากภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ความท้าทายคือการปรับตัวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและมีกำลังจำกัดในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทุกภาคส่วนจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็น Changer ในเกมแห่งความยั่งยืน และต้องประสานเชื่อมโยงความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม เรื่องความยั่งยืนนี่รอไม่ได้ครับ เราไม่มีโลกใบสำรอง ทุกวินาทีคือจุดสำคัญที่ต้องร่วมกันกอบกู้โลกใบนี้ เราจะต้องเปลี่ยนเกมรับให้เป็นเกมรุก หันมาประเมินตนเอง ปรับกลยุทธ์ พร้อมตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์