เมื่อกฎหมายห้ามให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

เมื่อกฎหมายห้ามให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

เมื่อต้นเดือน ก.ค.2566 มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการห้ามให้บริการ หรือสนับสนุนบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (Deposit Taking & Lending) ผู้เขียนจึงหยิบยกเนื้อหาสำคัญมาเล่าไว้ดังนี้

อะไรคือ Deposit Taking & Lending

การให้บริการรับฝากหรือให้กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโท/โทเคน) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้รับบริการ ในทางปฏิบัติ ผู้รับฝากจะให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์ที่ได้มานั้นไปใช้ประโยชน์ต่อในทางหาดอกผล ไม่ว่าจะเป็น การให้กู้ยืมต่อ หรือการนำไปลงทุนต่อ โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน

เช่น แพลตฟอร์ม A ให้บริการรับฝากคริปโท X โดยกำหนดเงื่อนไขว่า หากผู้ฝากฝากคริปโท X ไว้ในระยะเวลาต่างๆ ตามที่กำหนด จะได้ผลตอบแทนในอัตราและรูปแบบโบนัสที่แตกต่างกัน ดังนี้ ฝาก 3 เดือนได้โบนัส 10% ฝาก 6 เดือนได้โบนัส 12% 
 

นอกจากนี้อาจกำหนดผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น หากเลือกฝากคริปโทตามประเภทที่แพลตฟอร์ม A กำหนด ผู้ฝากจะได้ผลตอบแทนเป็นเหรียญคริปโทประเภทใหม่ หรืออาจได้ส่วนลดค่าธรรมเนียม ซึ่งโดยรวมมักมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า Traditional Finance อื่นในท้องตลาด

ตัวอย่างการให้บริการ Deposit Taking & Lending

ผลจากการล้มละลายของ Terra และ FTX ส่งผลให้ในปัจจุบันผู้ให้บริการ Deposit Taking & Lending หลายรายประสบปัญหาในการดำเนินการ และอาจปิดกิจการไปบ้างแล้ว เช่น Celsius ที่ครั้งหนึ่งเคยให้บริการรับฝาก/ให้กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันได้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายของสหรัฐ 

ส่วน BlockFi ผู้ให้บริการ Defi Finance หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบริการบัญชีฝากคริปโท โดยหากลูกค้านำคริปโทมาฝากตามที่กำหนดจะได้รับดอกเบี้ยเป็นเงิน fiat ไม่ต่างจากการเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคาร หรืออาจเลือกรับดอกเบี้ยเป็นเหรียญคริปโทก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการกู้ยืมสกุลเงินดอลลาร์ โดยผู้กู้สามารถใช้คริปโทเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันได้

เมื่อกฎหมายห้ามให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

ความเสี่ยงสูงหากเทียบกับธนาคาร

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่า การรับฝาก/ให้กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะใกล้เคียงกับบริการรับฝากเงินของธนาคาร โดยเปลี่ยนจากการรับฝาก “เงินตรา” เป็น การรับฝาก “สินทรัพย์ดิจิทัล” และคล้ายกับบริการสินเชื่อของธนาคาร

โดยแพลตฟอร์มมักนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้มาให้กู้ยืมต่อเพื่อหาดอกผล หรืออาจนำไปฝากต่อในแพลตฟอร์มอื่นเพื่อเก็งกำไรจากมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างที่น่าสนใจ คือ การให้สินเชื่อของธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้คืน แต่แพลตฟอร์มมักใช้กลไกการวางหลักประกันแบบ Over-collateralization 

หรือการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลค้ำประกันที่มีมูลค่าสูงกว่าสินทรัพย์ที่ให้กู้ยืม แทนการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงการขาดการกำกับดูแลจากภาครัฐ เนื่องจากไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบริหารความเสี่ยงต่างๆ เช่น มาตรฐาน Basel Framework เป็นต้น

ในมุมกฎหมายไทย

สำหรับการฝากเงินกับสถาบันรับฝากเงิน เช่น ธนา​​​คารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (ออมสิน ธ.ก.ส. ธอส.) ​สหกรณ์ออมทรัพย์และ​เครดิตยูเนี่ยน และกองทุนรวมตลาดเงิน จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานต่างๆ 

เช่น ธนาคาร ซึ่งเป็นตัวกลางหลักในการระดมเงินจากผู้ฝากเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อ ธปท.จะกำกับดูแลการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน และการดำเนินการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินจะเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

สำหรับการฝาก/ให้กู้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นกิจการที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับดูแลในลักษณะเดียวกันกับธนาคาร จึงเป็นกิจการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ และไม่ใช่การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย 

ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา อาจมีผู้ประกอบการบางรายทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า บริการในลักษณะดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นๆ

เมื่อกฎหมายห้ามให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

ปรับเกณฑ์เพื่อเพิ่มความชัดเจน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงมีการปรับปรุงเกณฑ์ โดยห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท (ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.) กระทำการ ดังต่อไปนี้

1.ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์ที่รับฝากไปให้กู้ยืมหรือลงทุน และจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก เช่น นำคริปโทที่รับฝากไว้ไปให้กู้ต่อ และนำดอกผลที่ได้จากการให้กู้บางส่วนมาจ่ายคืนให้กับผู้ฝาก เช่นนี้ ทำไม่ได้

2.ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้หรือเสนอว่าจะให้ผลตอบแทนอื่นแก่ผู้ฝาก เช่น การทำ Staking โดยมีออกและแจกเหรียญประเภทใหม่แก่ผู้ฝาก เช่นนี้ ทำไม่ได้ เว้นแต่การออกเหรียญนั้นจะมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

3.ห้ามโฆษณา หรือชักชวนบุคคลทั่วไป หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุน deposit taking & lending ของผู้ให้บริการอื่น เช่น ผู้ให้บริการ A มีการส่ง SMS เพื่อเชิญชวนลูกค้าให้ใช้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลของแพลตฟอร์ม B 

หรือในแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ A มีช่องทางเชื่อมลูกค้าไปยังแพลตฟอร์มอื่นที่ให้บริการรับฝาก/ให้กู้สินทรัพย์ดิจิทัล หรืออาจเชื่อมลูกค้าไปยัง Staking/Lending pool เช่นนี้ ทำไม่ได้ โดยการห้ามในข้อนี้รวมถึง การทำให้ลูกค้าสำคัญผิดว่าตนได้ให้บริการหรือมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มที่ให้บริการรับฝาก/ให้กู้สินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นด้วย

ไม่ห้าม Consensus Mechanism และ ดอกผลที่ได้มาจากการปรับปรุงบล็อกเชน

อย่างไรก็ดี การได้ดอกผลตามกลไก Consensus Mechanism เช่น POS ที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้พัฒนาบล็อกเชนเอง รวมถึงการได้ดอกผลจากการปรับปรุงบล็อกเชน เช่น การทำ hard/soft fork หรือการแจก airdrop ของผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล จะไม่ต้องห้ามตามเกณฑ์นี้

ท้ายที่สุด ผู้เขียนพยายามหยิบยกใจความสำคัญที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาอธิบายในบทความฉบับนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ.6/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 20) โดยเกณฑ์ที่กล่าวในข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 30 ส.ค.2566 เป็นต้นไป