สรรพสามิตชงสองแนวทางของบ4หมื่นล้านหนุนมาตรการอีวี
กรมสรรพสามิต เตรียมสองแนวทางเสนอรัฐหนุนมาตรการอีวี หลังเม็ดเงิน 2.9 พันล้านบาทจากองทุนอีวีจะหมดภายในก.ย.นี้ โดยเสนอรัฐบาลนี้ขอใช้งบกลางราว 3 พันล้าน เพื่อใช้ในช่วงรอยต่อรัฐบาล และ รอเสนอเสนอรัฐบาลใหม่อนุมัติงบ 4 หมื่นล้าน เพื่อใช้ในมาตรการดังกล่าวช่วงปี 67-68
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ กองทุนสนับสนุนการใช้"รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี"จำนวน 2.9 พันล้านบาทที่รัฐบาลได้จัดสรรไว้ จะหมดภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ซึ่งกรมฯได้เตรียมเสนอของบเพิ่มเติมจากรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้โครงการสนับสนุนการใช้รถอีวีมีความต่อเนื่องจนถึงปี 2568
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวีภายในประเทศ ซึ่งมีช่วงระยะเวลาจากปี 2565 ถึง 2568 รัฐบาลให้การสนับสนุนโดยตรงต่อผู้ซื้อรถยนต์อีวีผ่านกองทุนอุดหนุนผู้ใช้รถอีวีดังกล่าว ในมูลค่าไม่เกิน150,000 บาท/คัน กรณีที่รถอีวีนั้น มีแบตเตอรี่ ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป และให้การอุดหนุน 7 หมื่นบาท/คัน กรณีที่แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
“คาดว่า วงเงินกองทุนที่รัฐบาลชุดนี้ได้อนุมัติไปดังกล่าวนั้น จะหมดลงภายในเดือนก.ย.นี้ เนื่องจาก ความต้องการรถอีวีในประเทศไทยสูงมาก โดยนับตั้งแต่เริ่มใช้มาตรการอุดหนุนจนถึงปัจจุบันมีรถอีวีที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว 2 หมื่นคัน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวถึง 270 % จากก่อนที่จะมีมาตรการ ถือว่า เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน”
เขากล่าวว่า วงเงินงบประมาณที่จะขอจากรัฐบาล สำหรับการอุดหนุนการใช้รถอีวีดังกล่าว คงจะไม่ต่ำกว่า2.9 พันล้าบาท ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของการใช้รถอีวีภายในประเทศ ส่วนวงเงินการอุดหนุนต่อคันนั้น ยังคงอยู่ที่ไม่เกิน 150,000 บาท/คัน แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลชุดใหม่ และวงเงินงบประมาณที่จะได้รับ
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตเผยว่า กรมฯเตรียม 2 แนวทางการของบเพื่อให้มาตรการอุดหนุนอีวีเดินหน้าต่อเนื่อง
แนวทางแรก ในช่วงรอยต่อรัฐบาล จะเสนอให้รัฐบาลชุดนี้พิจารณาจัดสรรงบกลางจำนวน 3 พันล้านบาท ซึ่งการขอใช้งบกลางนั้น จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอขอใช้งบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกทอดหนึ่ง
แนวทางที่สอง คือ การขอจัดสรรงบประมาณจำนวน 4 หมื่นล้านบาทเพื่ออุดหนุนมาตรการดังกล่าวในช่วงปี 2567-2568 ทั้งนี้ ขณะนี้ กรมฯได้จ่ายเงินอุดหนุนมาตรการอีวีไปแล้วจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาท เหลืออีกราว 1 พันล้านบาท จะจ่ายหมดภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนการใช้รถอีวีรัฐบาล เป็นการให้ผ่านค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่เข้ามาลงนามเอ็มโอยูกับกรมสรรพสามิตว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าค่ายรถยนต์ จะต้องนำเงินอุดหนุนนี้ไปลดราคารถยนต์อีวีให้กับผู้ซื้อ ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ เข้ามาร่วมลงนามกับกรมสรรพสามิตแล้ว 11 ราย และนอกจากการให้เงินอุดกหนุนโดยตรงต่อผู้ซื้อรถอีวีแล้ว รัฐบาลยังได้ประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตรถยนต์อีวีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับค่ายรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนการใช้รถอีวีจากรัฐบาล จะต้องเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถอีวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อผลิตรถยนต์อีวีภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้า(ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล) โดยปี 2567 จะต้องผลิตทดแทนในอัตรา 1 ต่อ 1 คือ รถยนต์อีวีนำเข้าที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 1 คัน จะต้องมีการผลิตภายในประเทศ 1 คัน แต่หากค่ายรถยนต์รายนั้น ยังไม่สามารถผลิตรถอีวีภายในประเทศได้ภายในปี 2567 ปีถัดไปคือปี 2568 จะต้องผลิตทดแทนในอัตรา1 ต่อ 1.5 คัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(BEV) ภายในประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ครอบคลุม รถยนต์อีวีที่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล,รถกระบะอีวีและรถจักรยานยนต์อีวี โดยมีทั้งมาตรการลดภาษีนำเข้าและลดภาษีสรรพสามิตรถอีวี และเงินอุดหนุนโดยกำหนดระยะเวลาของมาตรการตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2568 โดยกรณีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ลดภาษีนำเข้าเหลือ 40 % ,ส่วนรถนำเข้าที่มีราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท ถึง 7 ล้านบาท ลดภาษีนำเข้าเหลือ 20 % ,ส่วนภาษีสรรพสามิต ลดลงเหลือ 2 % จาก 8 %
ในส่วนของเงินอุดหนุนนั้นกรณีรถยนต์นั่งอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท หากมีขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 ถ้าน้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ได้รับ 7หมื่นบาท/คัน ,ส่วนรถอีวีที่มีราคาสูงกว่า 2 ล้านบาท จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว
ในส่วนของรถกระบะไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย จะได้รับการลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 0 % และเงินอุดหนุนอีกคันละ 150,000 บาท ซึ่งจะต้องมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีราคาไม่เกินคันละ 150,000 บาท จะได้รับการลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 1 % และเงินอุดหนุนอีกคันละ 1.8 หมื่นบาท/คัน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า