‘ซีไอเอ็มบี’ชี้ไทยแห่ลงทุนนอก หวัง'ขยายตลาด-ดันรายได้โต’

‘ซีไอเอ็มบี’ชี้ไทยแห่ลงทุนนอก หวัง'ขยายตลาด-ดันรายได้โต’

“ซีไอเอ็มบีไทย” เผย บริษัทไทย รุกลงทุนต่างประเทศ หนุนรายได้เติบโต เผยครึ่งปีหลังเล็งปิดดีล“เอ็มแอนด์เอ” 2-3 ดีล ระดับพันล้านขึ้นไป ดัน ยอดปล่อยสินเชื่อต่างประเทศแตะ“แสนล้าน” ส่วนสินเชื่อรายใหญ่คาดโตทะลุเป้า พร้อมคุมหนี้เสียไม่เกิน2%

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศของลูกค้ารายใหญ่ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง  ซึ่งบริษัทไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ในหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น

ทั้งนี้รูปแบบของการออกไปขยายตลาดต่างประเทศมีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ เช่น การสร้างโรงงาน ,การร่วมลงทุนกับพันธมิตร และการทำM&A ซึ่งปัจจัยทางการเมืองของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงการเมืองไทย เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการลงทุนต่างประเทศของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ในไทย เพราะปกติจะมีการวางแผนล่วงหน้าในการลงทุนไว้แล้ว และ ปัจจุบันกลับมาขยายการลงทุนต่างประเทศมากกว่าช่วงโควิดอาจชะลอการลงทุนไปบ้าง

ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารมีลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รูปแบบ M&A อีก 3-4 ดีล มูลค่าการลงทุนต่อรายเฉลี่ย 500 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป หรือราว 1,700 ล้านบาท (ค่าเงินบาท 34-35 บาทต่อดอลลาร์)  คาดว่าสิ้นปีนี้ธนาคารมีโอกาสปิดดีลM&Aได้ราว 2-3 ดีล  ซึ่งเป็นส่วนผลักดันสินเชื่อการลงทุนต่างประเทศใกล้แตะระดับ 100,000 ล้านบาท

นายวุธว์ กล่าวว่า ในครึ่งแรกปี 2566 ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเป็นตัวกลางพาลูกค้าขยายธุรกิจไปตลาดทุกรูปแบบ ทำให้สินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศเติบโตไปแล้วกว่า70% เทียบกับปลายปีที่แล้ว หรือมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 66,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่มียอดคงค้าง 38,000 ล้านบาท


ทั้งนี้จากการทำงานของธนาคารที่เป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดหรือขยายธุรกิจ คือ 1. ด้านกฎระเบียบ กฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน 

สำหรับบริษัทที่ก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้ได้ และออกไปเปิดตลาดต่างประเทศ ในระยะเวลาที่เข้าที่แล้ว พบว่าช่วยให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดด เปิดตลาดใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ได้พันธมิตรรายใหม่ สามารถเพิ่มรายได้จากการขยายฐานธุรกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 100% ในระยะยาว ยังช่วยการกระจายความเสี่ยงที่มีตลาดหลากหลายประเทศ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน 

“ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนามยังเป็นตลาดที่เติบโตสูงมากจากประชากรจำนวนมาก มีความนิยมบริโภคสินค้าไทย ส่วนจีนและ สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าขาย อีกทั้งธนาคารยังพร้อมพาลูกค้าไปเปิดตลาด beyond ASEAN”

ส่วนสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ในประเทศในปีนี้ ยังคงตั้งเป้าหมายเติบโต 11% หรือมียอดคงค้างที่ 81,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้มีโอกาสทะลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ จากสิ้นปี 2565 ที่มียอดคงค้าง 73,000 ล้านบาท 

ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ราว 2 %โดยธนาคารมีความระมัดระวังในการพิจารณาเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินสูง หากมีปัญหาก็จะกระทบเอ็นพีแอลค่อนข้างมาก