Virtual Bank กับการคัดเลือกแบบ Absolute Performance
เป้าหมายหลักของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) คือการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรายย่อย เอสเอ็มอี และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีสาขาและใช้พนักงานน้อย มีการพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ๆ
จึงเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แต่กระนั้นการเพิ่มจำนวนของธนาคารไร้สาขาต้องคำนึงถึงคุณภาพไปพร้อมกันด้วย
มีพรรคการเมืองหนึ่งเสนอให้เพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มการแข่งขัน เพราะเห็นได้ว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่หนี้ครัวเรือนพุ่งทะยานขึ้นนั้น ธนาคารทุกแห่งประกาศผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ (กำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก) ดังนั้น หากเพิ่มจำนวนแบงก์ซึ่งเท่ากับเพิ่มอุปทานของสินเชื่อ จะเกิดการแข่งขันลดดอกเบี้ยเงินกู้ ผู้กู้ก็จะได้ประโยชน์
จริงอยู่ในต่างประเทศมีธนาคารเป็นหลักร้อยหลักพัน คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการแบงก์ ซึ่งไม่เคยมีความคิดนี้อยู่ในหัวคนรุ่นใหม่ของไทยเลย ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ให้ใบอนุญาตธนาคารเอกชนที่สามารถปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนได้อยู่ระหว่าง 13-15 ธนาคารเท่านั้น
แม้จีดีพีของไทยจะเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จำนวนแบงก์ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจแบงก์จึงเป็นเสมือนเสือนอนกิน ผูกขาดผลกำไรมาอย่างยาวนาน เจ้าสัวแบงก์เลือกได้ว่าจะให้ใครกู้ ไม่ให้ใครกู้ ลิขิตชะตาได้ว่าใครเป็นผู้เล่นในธุรกิจไหน แต่การเพิ่มจำนวนแบงก์ต้องคำนึงถึงการกำกับดูแลหรือบรรษัทภิบาล (corporate governance)
เพราะในอดีตรัฐบาลเคยอนุญาตให้มีการตั้งบริษัทไฟแนนซ์หรือนอนแบงก์มากกว่า 92 แห่ง แต่กลับปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวม ขาดการตรวจสอบหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ดี ไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของการกู้ยืมในเวลานั้นได้ (กู้เงินต่างประเทศดอกเบี้ยต่ำ มาปล่อยกู้ในประเทศดอกเบี้ยสูง)
จึงนำไปสู่การเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินปี 2540 ที่หลายคนยังคงจำได้ สุดท้ายบริษัทไฟแนนซ์ถูกปิดกิจการถึง 46 แห่ง ทำให้ต้องเพิ่มคุณภาพของบรรษัทภิบาล สร้างความมั่นใจว่าเอาผิดกับผู้บริหารที่ทุจริตได้
อย่างในกรณีของบริษัท STARK ที่ผู้บริหารบริษัทตกแต่งบัญชีหลอกลวงว่ามีกำไร จนทำให้ผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า Principal-Principal Conflict หรือความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นรายใหญ่กับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ปัญหายิ่งบานปลายเมื่อหน่วยงานกำกับดูแลเคลื่อนไหวช้า ที่ผ่านมาก็ยังมีอีกหลายบริษัทหลายตระกูลที่โกงนักลงทุนรายย่อย ยังไม่ถูกสำเร็จโทษ ใครจะเชื่อมั่นตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ของไทย หากหน่วยงานกำกับเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำงานเร็วแบบรุกไม่ใช่รับ เอาคนผิดไปลงโทษได้ ก็จะแก้ปัญหาไปได้อย่างมาก
ผู้ที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตเป็น Virtual Bank นอกจากจะต้องมีองค์ความรู้ด้านการให้บริการสินเชื่อ เงินฝาก บริหารหนี้เสียแล้ว ยังต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก
ธปท.กำลังใช้วิธีการคัดเลือกแบบ Relative Performance หรือการคัดเลือกแบบเร็ว (กำหนดจำนวนที่ต้องการตั้งแต่ต้น) กล่าวคือให้ผู้สมัครส่งประวัติผลงานในอดีตว่าประกอบธุรกิจเดิมประสบความสำเร็จเพียงใด น่าเชื่อถือแค่ไหน มีศักยภาพในอนาคตหรือไม่
โดยยังไม่ได้ให้ทดลองทำธุรกิจจริง ผู้ตัดสินก็คัดเลือกจากผลงานในอดีตเปรียบเทียบกัน ซึ่งย่อมจำกัดโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่ไปโดยปริยาย
อันที่จริงแล้วยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ Absolute Performance หรือการคัดเลือกแบบช้า (ไม่กำหนดจำนวนที่ต้องการตั้งแต่ต้น) ให้ผู้สมัครแต่ละรายทดลองให้บริการจริง แล้วดูผลงานว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้หรือไม่
หากผ่านเกณฑ์ในแต่ละขั้นตอนก็สามารถแข่งขันในรอบต่อๆ ไป สุดท้ายก็จะได้ผู้สมัครที่มีความสามารถสูงขึ้น และอาจจะได้ Virtual Bank ที่เก่งกาจมากกว่า 3 รายที่กำหนดไว้ก็เป็นได้
ในอดีตรัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีการคัดเลือกแบบ Absolute Performance จนปัจจุบันพบว่าบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นมีมากมาย และทุกบริษัทต่างมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮีโน่ มาสด้า ซูซูกิ อีซูซุ เป็นต้น
รัฐบาลญี่ปุ่นมิได้จำกัดว่าจะต้องมีบริษัทรถยนต์แห่งชาติ 1-2 รายเท่านั้นตั้งแต่ต้น แต่ได้ตั้งเกณฑ์มาตรฐานการผลิตให้แต่ละบริษัทไปทดลองผลิตรถยนต์ใช้งานจริงๆ
หากผ่านเกณฑ์ก็จะได้คัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันในรอบต่อๆ ไป พบว่าทุกบริษัทต่างขวนขวายพัฒนาประสิทธิภาพจนกระทั่งผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ เช่นกันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน บริษัทเอสเอ็มอีจำนวนมากเติบโตมาจากวิธีการคัดเลือกแบบ Absolute Performance นี้
ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยปัญหาการขาดบรรษัทภิบาลที่ดี คอยสั่นคลอนเสถียรภาพของระบบการเงิน เชื่อว่า ธปท.ยินดีส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับธุรกิจนี้สู่สากล คนเก่งหัวกะทิของไทย นอกจากแพทย์และวิศวกรแล้ว ก็อยู่ในวงการการเงินกันไม่น้อย
(การคัดเลือกแบบ Absolute & Relative Performance ดูเพิ่มเติมในหนังสือ การบริหารดาวเด่นและเส้นทางสู่ผู้บริหารระดับสูงในมิติทางเศรษฐศาสตร์)