สมรภูมิการเงินเดือด แบงก์ใหญ่ – ทุนบิ๊กชิงแบงก์ไร้สาขา
อัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกรรม Mobile Banking ทำให้เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การแข่งขันแบงก์ไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เห็นได้ว่าธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กลุ่มเดิมๆ เมื่อเทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้รับการยอมรับ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประกาศเกณฑ์ใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของกลุ่มธนาคารใหญ่ และบิ๊กคอร์ปอเรทที่ต่างออกมาประกาศความพร้อมเข้าสู่เป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank อย่างคึกคักที่สำคัญครั้งนี้เสมือนเปิดกว้างให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพไม่จำกัดเพียงแค่ “นายธนาคาร” ที่จะกินรวบทุกอย่างเหมือน 10 ปีแล้ว
ด้วยเทคโนโลยีทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้วยต้นทุนที่ถูกลงจนทำให้การใช้งานด้าน Internet Banking และ Mobile Banking ปลดแอดให้กับหลายธุรกิจเข้ามามีส่วนรวม และแบงก์ก็ต้องปรับตัว หรือไม่หาพันธมิตรมากกว่าจะเติบโตเพียงลำพัง
เริ่มจากธุรกรรมผ่าน Internet Banking และ Mobile Banking รอบ 5 ปีเปลี่ยนแปลงทุกปี จนเป็นที่มาของบริการต่างๆ ตามมาอีกจำนวนมาก จากข้อมูลของ ธปท. การให้บริการ Mobile Banking ปี 2561 มีจำนวนบัญชี 46 ล้านบัญชี มีปริมาณรายการ 2,896 ล้านรายการ จนปี 2564 มีจำนวนบัญชี 84 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 82% หรือเกือบเท่าตัว มีปริมาณรายการ 16,041 ล้านรายการ หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 6 เท่าตัว หรือ 453%
ส่วนปี 2565 มีจำนวนบัญชีได้แตะ 95 ล้านบัญชีไปแล้ว และมีปริมาณรายการ 2,896 ล้านรายการ เฉลี่ยเดือนละเกือบ 2,000 ล้านรายการ ซึ่งทำให้สิ้นปี 2565 ตัวเลขมีโอกาสที่จะได้แตะ 20,000 ล้านรายการเลยทีเดียว
ธุรกรรมที่เกิดขึ้นเน้นไปที่ "การโอนเงิน และการชำระเงินสด" เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลทำให้การมีสาขาแบงก์ที่กระจายทุกมุมเมืองจึงลดความจำเป็นลงทันที และเป็นที่ของการทยอยปิดสาขาแบงก์เพื่อลดต้นทุน
ตามมาด้วยการให้บริการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ซึ่งปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสินเชื่อดิจิทัลทั้งในบริบททั่วไป (ไม่ใช่นิยาม ธปท.และเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย) คงขยายตัวประมาณ 10% มาที่ยอดคงค้างประมาณ 56,050-60,720 ล้านบาท เพียงแต่ด้วยวงเงินสินเชื่อต่อรายที่น้อยและรอบการชำระคืนที่เร็ว คงทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมดอาจยังไม่เกินระดับ 8%หมดอาจยังไม่เกินระ
ยังรวมไปถึงบริการอื่นๆ เช่น การให้บริการด้านการลงทุน การเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล บริการฝากเงินดิจิทัล จึงทำให้ ธปท. วางเกณฑ์ Virtual Bank มารองรับเบื้องต้นจำนวนไม่เกิน 3 รายที่ โดยจะต้องเริ่มเปิดดำเนินการภายใน 1 ปี ซึ่งจะตรวจสอบความพร้อมของ Virtual Bank ที่จัดตั้งใหม่ก่อนเสนอ รมว. คลัง พิจารณาให้ใบอนุญาตแก่ Virtual Bank เพื่อเริ่มเปิดดำเนินการ
โดยผู้ขอจัดตั้ง จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท จะมารายเดียว ร่วมทุน หรือร่วมทุนต่างชาติก็ได้แต่ต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 25% และที่ เข้มสุดระบบไอทีต้องเสถียรหากขัดข้องต้องแก้ไขภายใน 2 ชั่วโมงต่อครั้งหรือ 8 ชั่วโมงต่อปี
แน่นอนว่าพอประกาศปุ๊บมีผู้สนใจเข้ามาแข่งชิงใบอนุญาตทั้งแบงก์ และนอนแบงก์มากถึง 10 ราย ในจำนวนนี้ย่อมมีแบงก์ใหญ่รวมอยู่ด้วยเพราะเป็นธุรกิจหลักที่ต้องชิงความได้เปรียบก่อนที่จะเสียเปรียบคู่แข่งรายอื่น
แบงก์แรกที่ประกาศสนใจเข้าคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จับมือกับกลุ่ม ADVANC และ GULF ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่สุดท้ายมีการยกเลิกความร่วมมือไปแต่แน่นอนว่า SCB ยังคงเดินหน้าหลังบอร์ดอนุมัติ เงินทุนด้วยการออกหุ้นกู้ 100,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก และลุย Virtual Bank ที่มีพันธมิตรใหญ่ไม่แพ้กัน
ด้าน ADVANC หันไปจับมือกับ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กลุ่ม "แรบบิท" ของ BTS ยอมรับอยู่ระหว่างเจรจา ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ชิงใบอนุญาต Virtual bank
กลุ่ม เจ มาร์ท (JMART) เดินหน้าในกลุ่ม “เจ เวนเจอร์ส “ ด้านเทคโนโลยี ธุรกิจสินเชื่อเงินสด ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER ) และธุรกิจบริหารหนี้ เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ( JMT) รวมกับพันธมิตร KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ ชิงใบอนุญาต
และที่ไม่พลาด กลุ่มซีพีที่มี TRUE Money ในมือจับเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ “แจ็ค หม่า” ที่มีธุรกิจหลากหลายด้าน ยิ่ง ANT Group กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน ซึ่งดำเนินธุรกิจ Alipay แพลตฟอร์มชำระเงินผ่านมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ปัจจุบันจะไม่มีอำนาจในการบริหารงานหลังปรับโครงสร้างในการออกเสียงลงคะแนน แต่การปรากฏตัวของเค้ากับผู้บริหารใหญ่กลุ่ม CP ทำให้มองไกลร่วมกันได้ไม่ยาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์