BRICS จ่อปล่อยกู้ สกุลเงินท้องถิ่น หวังโค่นเวิลด์แบงก์ หนุน Dedollarization
“New Development Bank” แบงก์เพื่อการพัฒนาที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศ BRICS ซึ่งเป็นคู่แข่ง “World Bank” จ่อปล่อยกู้ในสกุลเงินท้องถิ่น เริ่มจากแอฟริกาใต้ - บราซิล หนุนกระแสลดการพึ่งพาดอลลาร์ พบเริ่มปล่อยกู้หยวนไปก่อนแล้ว
สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) รายงานเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศ BRICS วางแผนที่จะเริ่มปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินแอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ หรือ De-dollarization และส่งเสริมระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีหลายขั้วมากขึ้น
โดยดิลมา รุสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) อดีตผู้นําบราซิล ซึ่งเป็นหัวหน้าธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก (World Bank) ยังกล่าวด้วยว่า
อยู่ในขั้นตอนพิจารณาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกจากประมาณ 15 ประเทศ และมีแนวโน้มที่จะอนุมัติการรับเข้าประมาณ 4-5 ประเทศ โดยเธอปฏิเสธที่จะระบุชื่อ แต่กล่าวว่า เป็นเรื่องสําคัญที่ต้องเลือกแต่ละประเทศให้มีความหลากหลายในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ
“เราคาดว่าจะปล่อยสินเชื่ออยู่ระหว่าง 8 พันล้านดอลลาร์ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้" รุสเซฟฟ์ กล่าวกับ พร้อมเสริมว่า "เป้าหมายของเราคือ การปล่อยสินเชื่อประมาณ 30% ... ในสกุลเงินท้องถิ่น"
เธอกล่าวว่า ธนาคารจะออกพันธบัตรในสกุลเงินแรนด์ของแอฟริกา และทำสิ่งเดียวกันกับสกุลเงินเรอัลของบราซิล โดยเราจะพยายามทําทั้งการแปลงสกุลเงิน (Currency Swap) และการออกพันธบัตร รวมทั้งในสกุลเงินรูปีด้วย ซึ่งปัจจุบันธนาคาร ปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินหยวนแล้ว
ทั้งนี้ การขยายตัวของการให้ปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินท้องถิ่นเป็นปัจจัยกระตุ้นวัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินทางเลือกอื่นแทนดอลลาร์ในการทําธุรกรรมการค้า และการเงิน
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ปล่อยสินเชื่อประมาณ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.089 ล้านล้านบาท) สําหรับโครงการพื้นฐาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รวมประเทศที่ไม่ใช่ BRICS อย่าง อียิปต์ บังกลาเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้ง อุรุกวัยเข้าไปเป็นสมาชิกเพิ่มเติม
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์