บทเรียนจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs
แทบทุกฝ่ายคงยอมรับว่า วิสาหกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยนั้น อยู่ในสถานะที่น่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้จะมีจำนวนมากถึง 99% ของจำนวนกิจการทั้งหมดในประเทศ แต่กลับได้รับสัดส่วนสินเชื่อคงค้างจากธนาคารพาณิชย์เพียง 18%
จึงไม่น่าแปลกใจที่ SMEs สามารถก่อผลผลิต ได้เพียง 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐควรพยายามแก้ไขหรือลดความรุนแรงลงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หากเราพิจารณาถึงปัญหานี้อย่างรอบคอบแล้ว
จะเห็นได้ชัดว่าแกนหลักของปัญหาคือ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ (credit access) ได้พอเพียง ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ก็มีเหตุผลที่ฟังขึ้นว่าไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อที่ก่อความเสี่ยงสูงเป็นจำนวนมาก เพราะอาจก่ออันตรายแก่เสถียรภาพทางการเงินได้ง่าย
ดังนั้น ในที่นี้เราจึงควรศึกษาประสบการณ์ขององค์กรทางการเงินระดับจุลภาค (องจ.) ในต่างประเทศที่สามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs ได้มาก โดยไม่ส่งผลเสียมายังเสถียรภาพของระบบการเงิน
ผู้ริเริ่ม
ธนาคาร Grameen Bank (GB) ของบังคลาเทศ เป็นแบบอย่างของการให้บริการทางการเงินระดับ ฐานรากแก่หลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย GB ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยผู้กู้มีสัดส่วนเป็นเจ้าของถึง 93% และรัฐบาลมีสัดส่วนเป็นเจ้าของเพียง 7% เน้นการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนที่ยากจนมาก โดยให้ความสำคัญกับผู้กู้เพศหญิงเป็นพิเศษ ( 95% ของผู้กู้ทั้งหมด)
GB ได้ตั้งเงื่อนไขให้ผู้ที่ต้องการสินเชื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละห้าคน และต้องสัญญาว่าจะปฏิบัติตามหลักการของ GB หลังจากที่ GB ประเมินผู้ขอกู้เป็นเวลา 1 เดือน ก็อาจปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกสองในห้าคนของกลุ่ม เมื่อสองรายแรกนี้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยครบภายใน 50 สัปดาห์แล้ว อีกสามรายที่เหลือจึงจะมีสิทธิกู้เงินจาก GB
แม้สมาชิกแต่ละคนจะไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินของสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม แต่เงื่อนไขนี้ก็ทำให้สมาชิกที่ยังไม่ได้กู้กดดันให้สมาชิกที่กู้ไปแล้วชำระคืนตามกำหนด แรงกดดันจากเพื่อนร่วมกลุ่มนี้ทำหน้าที่เสมือนหลักประกันสินเชื่อ ซึ่ง GB ไม่ได้เรียกร้องก่อนปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด
แต่ GB ก็บังคับให้สมาชิกแต่ละคนต้องมีเงินออมขั้นต่ำ 5 ตากา ต่อสัปดาห์ และนำไปฝากเข้าบัญชีทุกสัปดาห์ (หากขอสินเชื่อเกิน 8,000 ตากา ต้องฝากเงินอีกเดือนละ 50 ตากา) ทั้งนี้ในแต่ละสัปดาห์จะมีการประชุมระหว่าง GB และผู้กู้เพื่อให้ผู้กู้ทยอยจ่ายคืนภาระหนี้และ ฝากเงิน นอกจากนั้น GB จะถือโอกาสนี้ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินการใช้สินเชื่อและความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ด้วย
แม้ GB จะไม่ได้เรียกร้องหลักทรัพย์ค้ำประกันจากผู้กู้ แต่กลยุทธ์ ประกอบกับบรรษัทภิบาลและประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีทำให้ GB ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ดังเห็นได้จากอัตราการชำระคืน เงินต้นสูงถึง 99% โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2543 – 2546 ทั้งยังสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2538 โดย GB ไม่ต้องพึ่งเงินช่วยเหลือพิเศษแต่อย่างใด จากทั้งแหล่งท้องถิ่นและต่างประเทศ เนื่องจากมีเงินฝากพอที่จะปล่อยสินเชื่อได้
ผู้ตาม
1. มาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2531 รัฐได้จัดตั้ง Yayasan Usaha Maju (YUM) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการโดย Rural Development Corporation จนกระทั่งปี 2538 รัฐได้ตัดสินใจแปรสภาพ YUM เป็นหน่วยงานเอกชนที่ผ่านการฝึกอบรมจาก Grameen Bank จึงทำให้มีการดำเนินงานและกลยุทธ์คล้ายคลึงกับ Grameen Bank เช่น
(1) จัดตั้งกลุ่มสมาชิกลูกค้าจำนวนห้าคนต่อกลุ่ม (2) ประชุมกับกลุ่มลูกหนี้รายสัปดาห์ และ (3) สมาชิกลูกค้าต้องฝากเงินออมตามข้อบังคับ YUM มีผลประกอบการน่าพอใจมาก ดังเห็นได้จากอัตราการชำระคืนเงินต้นโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2540 – 45 สูงถึง 96.97% และมียอดเงินปล่อยกู้พร้อมทั้งยอดเงินฝากที่สูงเช่นกัน
2. แอฟริกาใต้ Small Enterprise Foundation (SEF) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2535 เพื่อให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มผู้ยากจน SEF เลียนแบบ Grameen Bank ของบังคลาเทศในเรื่องการติดต่อกับลูกค้าเป็นกลุ่ม กลุ่มละห้าคน และ SEF ไม่เรียกร้องหลักทรัพย์ค้ำประกันใด ๆ ก่อนปล่อยสินเชื่อ ทั้งยังให้ความสำคัญกับลูกค้าเพศหญิงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม SEF แตกต่างจาก Grameen Bank ในแง่ที่บังคับให้ลูกค้าร่วมกันรับผิดชอบภาระหนี้ของลูกค้าในกลุ่ม ในช่วงปี 2544 – 2546 ความสำเร็จของ SEF เห็นได้จากอัตราการชำระคืนเงินต้นที่ได้เพิ่มขึ้นเสมอมา พร้อม ๆ กับอัตราส่วนเงินฝากต่อสินเชื่อ
3. Catholic Relief Services (CRS) เป็นเครือข่ายขององค์กรทางการเงินระดับจุลภาคใน 31 ประเทศ มุ่งให้ความสำคัญแก่ลูกค้ายากจน โดยเฉพาะ (1) ลูกค้าเพศหญิง (2) ลูกค้าที่พึ่งพาตนเอง (self-employed) และ (3) ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นทางการในตลาดการเงินของประเทศ
CRS ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในท้องถิ่น และมีอัตราหนี้ค้างชำระเกินกำหนดต่ำเพียง 7.7% ทั้งนี้ เนื่องมาจาก CRS ปฏิบัติตามหลักการสำคัญหกประการ (ที่คล้ายคลึงกับหลักการของ Grameen Bank) ได้แก่
(1) ให้บริการลูกค้าที่ยากจนที่สุดโดยเฉพาะผู้หญิงที่มักไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบการเงินทั่วไป
(2) เชื่อมโยงขนาดของสินเชื่อแก่ลูกค้ากับขนาดของเงินฝากจากลูกค้า
(3) ใช้การค้ำประกันโดยสมาชิกภายในกลุ่ม (แทนที่จะบังคับให้ลูกค้าหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน)
(4) ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการบริหารงานของ CRS
(5) ให้ความสำคัญกับจำนวนลูกค้า และการเลี้ยงตนเองได้ (self-sufficiency)
(6) วางแผนให้ CRS ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือคนจน
ข้อสรุป
จากประสบการณ์ขององค์กรทางการเงินระดับจุลภาค (องจ.) ในต่างประเทศที่กล่าวข้างต้น คงเห็น ได้ชัดถึงประเด็นหลักต่อไปนี้
1. การกำกับดูแลหนี้ SMEs และหนี้คนจนอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดหากจะให้ องจ. นั้นประสบผลสำเร็จ (หรืออยู่รอด) และการกำกับดูแลหนี้อย่างใกล้ชิดนี้จะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าเราใช้เงื่อนไขของ Grameen Bank อันได้แก่
(ก) ควบคุมให้กลุ่มสมาชิกมีขนาดเล็กพอที่จะให้สมาชิกของกลุ่มติดตามหนี้ของสมาชิกที่กู้ไปแล้วได้อย่างใกล้ชิดและถูกต้อง เพราะมิเช่นนั้นตนก็จะเสียสิทธิในการกู้รอบต่อไป
(ข) จัดการประชุมระหว่างตัวแทนของ องจ. และกลุ่มลูกหนี้อย่างถี่พอควร เช่น ทุกสัปดาห์ เพื่อให้ องจ. สามารถติดตามและกำกับหนี้ของกลุ่มสมาชิกได้ทันต่อสถานการณ์
2. เงื่อนไขของการออมรายสัปดาห์ก็จะช่วยเพิ่มแรงกดดันให้สมาชิกของกลุ่มที่ยังไม่ได้กู้ติดตามกำกับการใช้และชำระคืนเงินของสมาชิกที่กู้ไปแล้ว นอกจากนั้น เงินออมที่บังคับนี้ แม้จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่ก็จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ องจ. จนสามารถถ่วงดุลความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้แก่ตนเองเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
3. องจ. ในต่างประเทศ (เช่น Grameen Bank และ CRS) สร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนอย่างแพร่หลาย ผลประโยชน์สำคัญสี่ประการของเครือข่ายและการเชื่อมโยงดังกล่าว คือ (ก) ทำให้สามารถครอบคลุมลูกค้าสินเชื่อและลูกค้าเงินฝากได้มากและกว้างขวาง (ข) การครอบคลุมลูกค้าได้มากและกว้างขวางนั้น ช่วยถ่วงดุลความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพให้กับโครงสร้างทางการเงินของ องจ. (ค) เพิ่มความคล่องตัวให้กับการบริหารเงินของ องจ.
กล่าวคือ มีอุปสงค์และอุปทานของการเงินที่มากและถี่พอ และ (ง) ผลประโยชน์จากทั้งสามประการที่กล่าวมาจะช่วยให้ องจ. สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน