'ลาว' วิกฤติหนัก เงินกีบดิ่งไร้ค่า? หนี้ท่วมประเทศ จับตาจีนครอบงำ
จับตา ! เศรษฐกิจลาวทรุดหนัก เงินเฟ้อพุ่งรุนแรง ค่าเงินกีบอ่อนยวบ หนี้สาธารณะเพิ่มทะลุ 110% เป็นหนี้จากต่างประเทศมากถึง 68% พบกู้สินเชื่อจากจีนมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก หวั่นเสีย “เอกราช” เชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ให้จีนเพราะไร้ความสามารถจ่ายหนี้
เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา “สำนักงานคุ้มครองเงินฝาก” ของลาวของออกหนังสือแจ้งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของธนาคารธุรกิจต่างประเทศ 4 แห่งจากการแจ้งเลิกกิจการ ในสปป.ลาว โดยทั้งหมดเป็นสาขาย่อยของธนาคารในต่างประเทศ คือธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารกรุงเทพ โดยให้เหตุผลว่าเป็นกลยุทธ์ในการลดสาขาของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ
แม้ว่าต่อมาธนาคารกลางประเทศลาวจะออกมาชี้แจ้งภายหลังว่า การประกาศปิดสาขาดังกล่าวเป็นการปรับกลยุทธ์ตามสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ และขอให้ประชาชนชาวลาวเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ
ทว่าหากประเมินปัญหาทั้งหมดที่ประเทศลาวเผชิญ ทั้งสภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ค่าเงินกีบอ่อนค่าหนัก รวมทั้งหนี้สาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศจากจีน ทั้งหมดทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งรวมทั้งธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2566 ว่า “เศรษฐกิจลาว” อยู่ในกลุ่มวิกฤติ
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจลาว นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่าเกิดในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ลาวขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก ซ้ำร้ายราคาน้ำมันขณะนั้นยังปรับตัวสูงอย่าง เห็นได้ชัดจากอุปทานการผลิตน้ำมันลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศ รวมทั้งลาวต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อ
ประกอบกับ ขณะนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่ในช่วงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ประมาณ 2% ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ “ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น” จึงเข้ามากดดันค่าเงินของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) หนึ่งในนั้นคือลาวให้อ่อนค่าลงอย่างหนัก
ที่สำคัญ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจลาวขาดดุลทางการค้าต่อเนื่องจากการนำเข้าพลังงานที่ราคาแพง สวนทางกับตัวเลขการส่งออกที่เท่าเดิมหรือปรับตัวน้อยลง สภาวะดังกล่าวก็ยิ่งกดดันให้รัฐบาลลาวเผชิญกับ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวขาดดุลทางการค้า 166 ล้านดอลลาร์ และการขาดดุลทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบเดือนต่อเดือน
จากสถานการณ์ข้างต้นทำให้เห็นว่า ลาวเผชิญทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ภายนอก จนทำให้เงินเฟ้อจากราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจลาวขาดดุลทางการค้าต่อเนื่องและกดดันให้สกุลเงินกีบอ่อนค่าอย่างหนัก นิตยสารฟอร์บส ของอินเดีย จึงจัดอันดับว่า ค่าเงินกีบกลายไปเป็นเงินที่ราคาถูกมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก
โดย ณ วันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา 1 ดอลลาร์แลก 19,476.31 กีบ ในขณะที่เมื่อก่อนแลกได้เพียง 8,000 กว่ากีบเท่านั้น
ความสัมพันธ์ลาว-จีน ให้ความช่วยเหลือ หรือแค่ลูกหนี้ ?
ท่ามกลางความปั่นป่วนของเศรษฐกิจลาว มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง “จีน” เป็นหนึ่งประเทศที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลาว ทั้งผ่านการให้กู้สินเชื่อเพื่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road Initiative) การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า รวมทั้งยอมให้ลาวชำระหนี้สินผ่านสกุลเงินท้องถิ่นหรือสกุลเงินหยวนได้ โดยหลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia) ออกมารายงานว่า ลาวเริ่มนำเข้าพลังงานจากจีนมากขึ้น จากเดิมที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ หากอ้างอิงข้อมูลซึ่งรายงานโดยวิทยุเอเชียเสรี พบว่า หนี้สาธารณะของลาวในปี 2565 สูงขึ้นแตะระดับ 110% โดยเป็นหนี้จากการกู้ยืมต่างประเทศถึง 68% ซึ่งตัวเลขหนี้ดังกล่าวถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศไทยซึ่งอยู่ที่เพียง 60% ของจีดีพีเท่านั้น
โดยหนี้จากการกู้ยืมต่างประเทศของลาว 68% ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของจีน ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ข้อมูล Statista ระบุว่า ในปี 2564 ลาวเป็นประเทศที่กู้สินเชื่อจากจีนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกอยู่ที่ 30% เป็นรองเพียง ประเทศจิบูตี 42% และแองโกลา 35% เท่านั้น
ท้ายที่สุดจากสถานการณ์ทั้งหมด จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นอกจากลาวจะเผชิญปัญหา เงินเฟ้อขยายตัวอย่างรุนแรง จากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าหนักจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ ภาระหนี้ของรัฐบาลที่สูงทะลุ 100% จากการขาดดุลทางการค้าต่อเนื่องแบบเดือนต่อเดือนแล้ว
ทว่าอีกหนึ่งความน่ากังวลคือ “ลาว” อาจติดอยู่ในกับดักหนี้ของจีน จากการกู้ยืมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ BRI และหากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากลาวจะเคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในอดีตแล้ว ก็น่าติดตามต่อไปว่า สถานการณ์เป็นหนี้ของลาวครั้งนี้จะทำให้ลาวต้องเสีย “เอกราช” ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้จีนหรือไม่
อ้างอิง