Friendshoring: คบมิตร แยกศัตรู | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในการประชุม Jackson Hole ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ นายธนาคารกลางทั่วโลกได้หารือเกี่ยวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นของ “Deglobalization” หรือการลดลงของโลกาภิวัตน์อย่างเข้มข้น
“คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป เน้นย้ำถึงการเพิ่มขึ้นของ “Friendshoring” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลต่างๆ สนับสนุนให้ธุรกิจย้ายการผลิตจากประเทศศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามไปยังประเทศพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความมั่นคงทางการค้าและลดความเสี่ยงลง
แม้ว่านโยบาย Friendshoring อาจลดประสิทธิภาพลง แต่ผู้เสนอเชื่อว่ามีความจำเป็นต้องลดการพึ่งพาประเทศที่เป็นศัตรู ความรู้สึกนี้เพิ่มขึ้นหลังจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และความตึงเครียดคุกรุ่นระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน
“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ก็สนับสนุนนโยบายการลดการพึ่งพาประเทศจีนลง โดยเฉพาะวัสดุสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและรถยนต์ไฟฟ้า ข้อมูลการค้าในภาพรวมได้เผยความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนลดลง โดยปัจจุบันเม็กซิโกได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของอเมริกา
Friendshoring กลายเป็นทั้งนโยบายและแนวทางใหม่ที่อธิบายโลกแห่งการค้าโลกในปัจจุบันที่ “คบมิตร แยกศัตรู” เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากเดิมที่โลกเคยเป็น “โลกาภิวัตน์” กันในอดีต
“Friendshoring” หรือ “Allyshoring” เป็นนโยบายในช่วงไม่กี่ปีผ่านมา เนื่องจากธุรกิจและรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดในการค้าระหว่างประเทศ การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่ผ่านมา เมื่อโลกาภิวัตน์เริ่มแพร่ขยาย ธุรกิจขนาดใหญ่ต่างทำสิ่งที่เรียกว่า “Offshoring” หรือการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศหรือการตั้งศูนย์บริการในต่างประเทศ
ดังเช่นกรณีประเทศญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนหนึ่งมายังประเทศไทย ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมของประเทศลง
ต่อมาเกิดปรากฎการณ์ “Reshoring” ซึ่งหมายถึงการนำเอากระบวนการผลิตส่วนที่สำคัญกลับคืนมาที่ประเทศตัวเอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Onshoring หรือ Inshoring หรือ Backshoring
เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กฎระเบียบที่ไม่เอื้อ หรือมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ จนทำให้ไม่ได้เกิดความได้เปรียบในการลงทุนหรือมีความเสี่ยงในอนาคต
ในปัจจุบัน ความกังวลด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจต่างๆ เริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในภูมิภาคที่อาจเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมืองหรือประเทศที่ไม่เป็นมิตร
การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถแยกออกจากความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ได้อีกต่อไป Friendshoring จึงได้เกิดขึ้น
Friendshoring มีข้อดีตรงช่วยลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ลง ด้วยการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่มีเป้าหมายทางการเมืองและยุทธศาสตร์ร่วมกัน
บริษัทต่างๆ สามารถดำเนินงานด้วยความมั่นใจในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมค่านิยมร่วมของกลุ่มประเทศ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน และข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ให้พัฒนามาตรฐานไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม Friendshoring อาจทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในด้านค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และวัตถุดิบที่มีราคาแพงขึ้น
อีกทั้งการมุ่งเน้นการค้าภายในกลุ่มทำให้ประเทศต่างๆ พลาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรูปแบบการค้าโลกที่หลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงในระยะยาว
แม้ว่าพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์จะมีเสถียรภาพ แต่การพึ่งพาบางประเทศมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ หากภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป
ในปัจจุบัน แม้ว่าสหรัฐฯ ดูเหมือนจะลดการนำเข้าจากจีนลงไป แต่ก็ยังพบว่ามีการพึ่งพาส่วนประกอบที่สำคัญของจีนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เช่น พลังงานสีเขียว
หรือกรณีอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ ซึ่งเม็กซิโกเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ นั้น ก็ได้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงทำให้สหรัฐยังพึ่งพาชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนทางอ้อมอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ จีนก็ยังมีส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญของแบตเตอรี่ความจุสูงที่นำเข้าโดยสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปเองก็เผชิญกับการพึ่งพาที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัตถุดิบที่สำคัญจำนวนมาก
ดังนั้น แม้จะมีความพยายาม Friendshoring แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับจีนหรือ สหภาพยุโรปกับจีนก็ยังคงแข็งแกร่ง ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐเน้นย้ำว่าไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากจีนโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจเป็นเพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจของการ Friendshoring นั้นสูงมาก
การศึกษาพบว่าการ Friendshoring จะมีส่วนในการลด GDP ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปลง และส่งผลเสียต่อประเทศที่ติดอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศคู่แข่ง
ผลการวิจัยเรื่อง "Economic costs of friend-shoring” โดยนักวิจัยจากธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (EBRD) ที่เผยแพร่ล่าสุด ได้ชี้ให้เห็นว่าการ Friendshoring อาจนำไปสู่การสูญเสีย GDP สูงถึง 4.7% ในบางประเทศ
ดังนั้น แม้ว่า Friendshoring อาจช่วยรับประกันการหยุดชะงักของการผลิตและการค้าอย่างรุนแรง และเพิ่มความปลอดภัยในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่สำคัญ แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนจำนวนมาก
ดังนั้น การแสวงหาหนทางกลับคืนสู่โลกาภิวัตน์ควรเป็นแนวทางที่ดีที่สุดต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากโลกไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งได้ ผู้นำแต่ละประเทศและธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจและวางตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในโลกที่โลกาภิวัตน์แตกออกเป็นเสี่ยงๆ คบมิตรและแยกศัตรูที่ชัดเจน
ในโลกแบบนี้ การตัดสินใจว่าจะตั้งฐานการผลิตที่ไหน ค้าขายกับใคร ไม่ง่ายเหมือนในอดีต แต่ละทางเลือกมีความซับซ้อน ที่ทำให้ภาคธุรกิจและรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเทียบกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาวไปพร้อมกัน.