นักวิชาการห่วง รัฐใช้เงิน ‘นอกงบฯ’ เพิ่ม ‘ภาระคลัง-ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ’

นักวิชาการห่วง รัฐใช้เงิน ‘นอกงบฯ’  เพิ่ม ‘ภาระคลัง-ฉุดเชื่อมั่นต่างชาติ’

‘นักเศรษฐศาสตร์’ แนะนโยบายเร่งด่วนภาครัฐ ต้องมาจากงบภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่โปร่งใส ชัดเจน หวั่นใช้เงินนอกงบประมาณ ไม่พ้นเป็นภาระการคลังระยะยาว กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ ชี้ควรทำนโยบายเฉพาะ

        โจทย์สำคัญ หลังจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ภายใต้รัฐบาลใหม่ของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” คือการออก “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้พ้นจากการชะลอตัว และช่วยประชาชนให้พ้นจากวิกฤติด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหนักในปัจจุบัน 5 มาตรการเร่งด่วนที่ภาครัฐจะทำเร่งด่วน

        เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน, การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเพื่อลดปัญหาปากท้องของประชาชน ,การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ,การเพิ่มรายได้จากท่องเที่ยว การแก้รัฐธรรมนูญ

          แต่ที่ยังเป็นคำถาม คือ งบประมาณการในการใช้นโยบายเร่งด่วนเหล่านี้ จะมาจากแหล่งใด และท้ายที่สุดจะเป็นภาระต่องบประมาณของภาครัฐหรือไม่

หวั่นใช้เงินนอกงบฯกระทบเชื่อมั่น

        นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การจัดทำนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน จะมาจากแค่สองแหล่ง คือ ผ่านงบประมาณปกติ และเงินนอกงบประมาณ ซึ่งหากเป็นการใช้เงินในงบประมาณ อาจดีเลย์ถึง 5 เดือน นับจากนี้

         อย่างไรก็ตาม หากดูนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ เบื้องต้นที่ออกมาแล้ว เช่น แจกเงินดิจิทัล 10,000บาท การลดค่าครองชีพ เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณทั้งหมด เช่นผ่านมาตรา28 ให้แบงก์รัฐกู้เงินและภาครัฐจะเข้าไปชดเชยภายหลัง 
 

         แต่หากดูหนี้ภาครัฐภายใต้มาตรา 28 กำหนดไว้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท หากจะใช้เงินในโครงการแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท ถ้าใช้งบจากส่วนนี้ จำเป็นต้องขยับกรอบพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 เพิ่มขึ้น

       “การใช้เงินนอกงบประมาณ ความเสี่ยงคือ เหมือนซ่อนหนี้ แม้จะไม่ขาดดุลงบประมาณ ไม่เห็นหนี้ในกรอบหนี้สาธารณะทันที แต่หนี้เหล่านี้ยังอยู่เกิดขึ้นจริง และนักลงทุนต่างชาติ เครดิตเรตติ้งรับทราบ ดังนั้นท้ายที่สุดก็ต้องถูกรวมอยู่ในหนี้สาธารณะของภาครัฐ เพราะเหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ใช่กู้มาแล้วไม่ต้องจ่าย และหากปล่อยหนี้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะกระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลังได้”

ชง'เก็บภาษี-แรงงานต่างชาติ'

      นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ช่องทางในการหางบประมาณ เพื่อใช้ในโครงการเร่งด่วนของภาครัฐ ว่ามาจากช่องทางใด ภายใต้งบประมาณ หรือนอกงบประมาณ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเท่ากับ เม็ดเงินที่ใช้ ว่ามีความคุ้มค่า และบรรลุเป้าหมาย และกระตุ้นเศรษฐกิจตามภาครัฐคาดหวังไว้หรือไม่

      ซึ่งแหล่งงบประมาณภาครัฐ นอกจากการกู้เงิน เชื่อว่า สามารถทำได้อีก 1-2 แนวทาง คือการเก็บภาษีเพิ่ม ทั้งการเพิ่ม VAT เก็บภาษีที่ดิน ภาษีความมั่งคั่ง เพื่อนำงบประมาณเหล่านี้มาใช้ในโครงการรัฐเพิ่ม

        นอกจากนี้ คือ สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพิ่มรายได้จากต่างชาติ รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นแหล่งเกษียณของต่างชาติ เพื่อเปิดทางให้ภาครัฐ เก็บภาษี และมีรายได้เพิ่มขึ้น เหล่านี้สามารถทำได้ง่าย แต่อาจต้องปรับเรื่องกฎหมายต่างๆเพื่อเอื้อให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยั่งยืนกว่า การหวังเพิ่งรายได้จากนักท่องเที่ยว

แนะใช้เงินภายใต้กรอบงบฯภาครัฐ

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า เชื่อว่า งบประมาณภาครัฐ ที่จะใช้ในโครงการเร่งด่วน ที่ควรจะเป็นคือการกู้เงินในกรอบงบประมาณของภาครัฐ ภายใต้กรอบวินัยทางการเงินการคลัง หรือการออกพ.ร.ก.เร่งด่วน เพื่อใช้งบประมาณเร่งด่วนได้ เพื่อให้การใช้เงินภาครัฐ มีความตรงไปตรงมา ชัดเจน 

     ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐสามารถก่อนหนี้ได้เพิ่ม ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61% หากกู้เพิ่มเติมกว่า 5 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะยังคงอยู่ที่ระดับที่ 65% ซึ่งสูงขึ้น แต่ยังเป็นระดับที่ไม่ได้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

      ส่วน พรก. กู้เร่งด่วน แม้สามารถทำได้ แต่อาจต้องมีคำถามว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทย วิกฤติหรือไม่ ที่จะใช้งบประมาณจาก พรก.เพราะหากดูภาพรวมเศรษฐกิจ การเติบโตของการบริโภคครัวเรือนในปัจจุบันเติบโตได้ระดับ 7% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

       ดังนั้นคำถามคือ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งการบริโภคเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา หลักๆ มาจากภาคการส่งออก เป็นสำคัญ ที่เป็นปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก

        นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาถัดมาคือ งบประมาณเร่งด่วนที่จำเป็นต้องออกมาในระยะข้างหน้า มีความจำเป็นต้องกระตุ้นทุกคนหรือไม่ เพราะกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ คือกลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย ที่จำเป็นกระตุ้นมากกว่า ดังนั้น การทำนโยบาย อาจต้องทำแบบเจาะจง เฉพาะกลุ่มหรือไม่ ที่อาจได้ผลบวกทางเศรษฐกิจที่ทวีคูณมากกว่า

ห่วงรัฐแจกเงินแล้วจบไม่หนุนศก.โต

      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) งบที่จะมาใช้ในโครงการเร่งด่วนของภาครัฐ เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมาจากงบภาคการคลัง หรืองบปกติ ปี 2567 หรือการหารายได้เพิ่ม จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำเงินมาใช้กับโครงสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้น

      แต่สิ่งที่กังวล มี 3 เรื่อง 1.ใช้จ่ายแล้วจบ แจกเงินให้ทุกคน แต่ไม่ได้เกิดการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาว ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยี หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล แต่จะเป็นการใช้จ่ายแล้วจบ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยโตเกินระดับศักยภาพที่ 3%ได้

      2. สิ่งที่ห่วงคือ การส่งผ่านสู่เงินเฟ้อ หากเป็นการใช้เงินในระบบเกินไป สนับสนุนให้คนใช้จ่ายเกินตัว ท้ายที่สุดอาจกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะสั้นเพิ่มขึ้นได้ และอาจกระทบต่อการทำนโยบายการเงินให้มีความยากลำบากมากขึ้น ท่ามกลางกระแสการเงินโลกที่ผันผวนมากขึ้น

      3. ภาระการคลัง แม้งบเร่งด่วน ส่วนหนึ่งจะมาจาก การให้แบงก์รัฐเงินมาใช้ก่อน แต่เงินดังกล่าวจะกลายเป็นภาระผูกพันในระยะยาวต่อภาครัฐ และคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงหนี้สาธารณะในระดับที่สูงขึ้นได้ แนวโน้มอาจไปสู่ระดับ 70%ต่อจีดีพีได้ หากบริหารจัดการได้ไม่ดีนัก

       ซึ่งหากการกระตุ้นครั้งนี้ เศรษฐกิจเติบโตได้ดีอาจไม่มีปัญหา แต่หากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือทำให้เศรษฐกิจโตเหนือศักยภาพที่3%ได้ อาจเป็นปัจจัยที่น่ากังวล และน่าห่วงมากขึ้น

แนะทำมาตรการเฉพาะกลุ่มลดงบภาครัฐ

      ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่าการทำนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ เช่นการแจกเงินดิจิทัล 1หมื่นบาท ที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแรงๆ หากดูตัวเลขไตรมาส 2พบว่า การบริโภคยังเติบโตได้ดี ดังนั้นสิ่งที่ต้องกระตุ้นจริงๆคือการลงทุน และการส่งออก ที่ปัจจุบันชะลอตัว

       ทั้งนี้ เชื่อว่า ดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่นบาท หากคนนำไปใช้จ่าย ซื้อปุ๋ยมาเพาะปลูก มาใช้จ่ายในการสร้างอาชีพ ปลูกข้าวมากขึ้น เหล่านี้จะมีประโยชน์ และมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เชื่อว่ามีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นๆ

      อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณเหล่านี้่ เป็นภาระต่อภาคการคลังแน่นอน ที่จะให้แบงก์รัฐกู้เงิน และรับภาระไปก่อน แม้จะไม่เป็นภาระทันที แต่จะเป็นภาระระยะยาวต่อภาครัฐ

      ซึ่งจะลดความยืดหยุ่นในการขับเคลื่อนการคลังในระยะยาว และ สิ่งที่เหมาะสมคือ ต้องทำให้เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับชัดเจน จะดีกว่าหรือไม่

      “เป้าของผม คือการเน้นการลงทุน และต้องการให้เงินลงสู่คนที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะหากทุกคนได้เงิน ก็กว้างเกินไป หากคิดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แรงๆ ผมก็ไม่รู้ว่า multiplier จะเยอะขนาดไหน เรามีทรัพยากรจำกัด มีพื้นที่ของนโยบายการคลัง ดังนั้นต้องดูให้ดี”