ต่างชาติทิ้งบอนด์ไทย'แสนล.' ThaiBMA ชี้เทรนด์ยังไหลออก-เม็ดเงินใหม่ชะลอ
“ต่างชาติ” ทิ้งบอนด์ไทยระยะสั้น 1.16 แสนล้าน เหลือยอดคงค้างเพียง 6.4 หมื่นล้าน จากปีก่อนที่ 1.8 แสนล้าน “ThaiBMA” คาดแนวโน้มไหลออก เหตุดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าไทยถึง3% ส่งผลปล่อยครบกำหนดแล้วดึงเงินกลับ ส่วนเม็ดเงินลงทุนใหม่ชะลอ ดูนโยบายรัฐบาลใหม่ มีแผนการออกบอนด์
จากส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐกับไทยห่างกันถึง3 % ทำแนวโน้มเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งเดือนที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยสูงถึง 55,000 ล้านบาท และยังเป็นแรงขายต่อเนื่องในเดือนก.ย.อีก 11,495 ล้านบาท(ณ12 ก.ย.66) ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิ 125,823 ล้านบาท จากปี2565 และปี 2564 ที่ซื้อสุทธิ 46,611 ล้านบาท และ 144,214 ล้านบาท
นางสาวอริยา ติรณประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า กระแสเงินลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) ในตลาดตราสารหนี้ไทย ช่วงนี้เป็นทิศทางเงินไหลออกเช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิในตราสารหนี้ไทยระยะสั้น (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ที่ครบกำหนด สาเหตุอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรไทยถึง 3% ปัจจุบัน ณ 12 ก.ย. 2566 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของไทย อยู่ที่ 2.9% แต่สหรัฐอยู่ที่ 4.3% ผลตอบแทนพันธบัตรดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.25% แต่สหรัฐอยู่ที่ 5.5%
ทั้งนี้หากในช่วงที่เหลือของปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้น 0.25% อีก 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 2.5% ก็ไม่น่าจะตามทัน และจากประธานเฟดที่ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมหากจําเป็น และพร้อมคงดอกเบี้ยในระดับสูง จะยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไทยกับสหรัฐยิ่งห่างกันมากขึ้นไปอีก ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทำให้พันธบัตรรัฐบาลไทยยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติน้อยในเวลาเช่นนี้
สำหรับปัจจุบันพบว่า นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยระยะสั้นมียอดคงค้างเหลือเพียง 64,000 ล้านบาท ลดลง 116,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 180,000 ล้านบาท และมียอดคงค้างรวมทั้งสิ้น 946,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติยังถือครองตราสารหนี้ไทย ระยะยาว 882,000 ล้านบาท โดยอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ อยู่ที่ 8.3 ปี เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 7.9 ปี
นางสาวอริยา กล่าวว่า การที่ต่างชาติยังคงขายตราสารหนี้ไทย ระยะสั้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังไม่ส่งกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในภาพรวม และหากนโยบายการดอกเบี้ยสหรัฐของเฟด เริ่มนิ่งหรือไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว มองว่าจะเป็นจุดพลิกกลับให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ทั้งประเทศเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยด้วย
ประกอบกับแม้สถานการณ์การเมืองไทยคลี่คลายมากขึ้นสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ส่งผลเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม แต่ในส่วนของเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ยังรอความชัดเจนในเรื่องของนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจนก่อน และรอดูผลต่อการใช้งบประมาณ งบขาดดุล งบประมาณที่จะใช้โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอเลต 10,000บาท จะต้องใช้งบประมาณจริงมากน้อยแค่ไหน
“หากจำเป็นต้องกู้เงินด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล จะมีปริมาณออกมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสผันผวนต่อ สำหรับคนที่ยังถือพันธบัตรอยู่ได้ จึงยังรอดูความชัดเจนก่อนแม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกใหม่จะมียีลด์ขยับขึ้นดึงดูดเงินลงทุนใหม่ก็ตาม”
นายยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า แนะนำพันธบัตร และหุ้นกู้ต่างประเทศมากกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบนความเสี่ยงที่เท่ากัน โดยเฉพาะหุ้นกู้ของบริษัทที่เป็น investment grade และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ แต่อย่างไรก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย