'อินเดีย’ ขายดอลลาร์ พยุงค่าเงิน พบเงินสำรองวูบเฉียด 7 แสนล้านบาท 2 เดือนที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์คาด เงินสำรองของอินเดียหายไปประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท) ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพราะ "ธนาคารกลางอินเดีย" ขายดอลลาร์เพื่อพยุงค่าเงินในประเทศ หวังดึงดูดนักลงทุน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (13 ต.ค.) ว่า ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาการเดิมพันกับ “ค่าเงินรูปี” ถือเป็นแนวคิดที่ไม่ดีสักเท่าไร
แต่ถึงอย่างนั้นบรรดานักลงทุนก็ยังคงตั้งคำถามสำคัญหนึ่งข้อคือ เหตุใด ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จึงพยายามทำทุกวิถีทางในการอุ้มค่าเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับค่าเงินดอลลาร์ที่ผันผวน
ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ให้ข้อมูลว่าความผันผวน (Volatility) ของเงินรูปีอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบสองทศวรรษ และสกุลเงินได้หลีกเลี่ยงที่จะทะลุระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็ตาม
ทว่าผู้ว่าการธนาคารกลางก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างมากนักเกี่ยวกับนโยบายการแทรกแซงของประเทศ นอกเหนือจากการระบุเพียงในการประชุมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในสัปดาห์นี้ ว่า
ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินให้อยู่ในระดับที่ต้องการ อย่างไรก็ตามบรรดานักวิเคราะห์กลับมีทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของผู้กำหนดนโยบายอินเดีย
หนึ่งในนั้นคือแนวคิดของ Abrdn Plc บริษัทเพื่อการลงทุนจากสหราชอาณาจักรที่ให้เหตุผลว่า RBI อาจจะใช้คลังสำรองต่างประเทศขนาดใหญ่เพื่อปกป้องสกุลเงินของตัวเองเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและดึงดูดนักลงทุน
ขณะที่ Robeco Group อีกหนึ่งบริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า หน่วยงานทางการเงินอาจเข้ามาแทรกแซงเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของตลาดที่ส่วนมากถูกขับเคลื่อนด้วย Sentiment มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน
“สำหรับอินเดีย สถานการณ์นี้ค่อนข้างสมเหตุสมผล” Kenneth Akintewe หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การใช้จ่ายของภาครัฐที่ Abrdn Asia Ltd. กล่าว
พร้อมเสริมว่า “เหตุใดจึงต้องสะสมจนมีทุนสำรองที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งถ้าคุณจะไม่ใช้มัน นอกจากนี้ปัจจุบันเรายังอยู่ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ราคาสูงขึ้น ทั้งหมดอาจจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ยากต่อการกลับไปสู่เป้าหมาย 4%”
เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ที่เพิ่มขึ้นยังคงกดดันสินทรัพย์ของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น RBI จึงต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความสมดุล เช่นการทำให้เงินรูปีมีเสถียรภาพมากขึ้นเพราะจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากกว่าที่กลัวว่าค่าเสื่อมราคาจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทน โดยความผันผวนของค่าเงินที่ลดลงอาจส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในหมู่ผู้ทำธุรกิจด้านนำเข้าด้วย
หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น RBI ไม่ใช่ธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวที่ก้าวเข้ามาเพื่อปกป้องสกุลเงินของตัวเองจากค่าเงินดอลลาร์ที่ผันผวนไปมา เพราะธนาคารกลางในประเทศจีน ไทย และญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินการเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การแทรกแซงของ RBI ค่อนข้างน่าสังเกต เนื่องจากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ทุนสำรองของประเทศลดลงประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการลดลงที่นักวิเคราะห์มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขายเงินดอลลาร์เพื่อสนับสนุนเงินรูปี
อ้างอิง