‘ไพบูลย์’ ชี้ตลาดหุ้นไทยเผชิญวิกฤติศรัทธา เร่งรัฐเข็นกฎหมายบังคับออมเงิน
‘ไพบูลย์’ ชี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ แต่เติบโตไม่ทั่วถึง หลายภาคส่วนอ่อนแอ บริษัทจดทะเบียนผลประกอบการยังแกร่ง ชี้ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญวิกฤติศรัทธา แนะรัฐเร่งกฎหมายการบังคับการออมเงินผ่าน กองทุนเลี้ยงชีพ สร้างระบบการออมระยะยาวในตลาดเงิน-ตลาดหุ้น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) มองว่า ในมุมส่วนตัวมองว่า วิกฤติจะเกิดขึ้นได้ หลักๆมาจาก 2ด้าน คือ วิกฤติที่มาจากสถาบันการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่วันนี้สถาบันการเงินไทย และภาคอสังหาฯ ยังแข็งแรง และยังไม่มีปัญหาขนาดนั้น แต่ปัญหาของเศรษฐกิจวันนี้ คือการเติบโตไม่ทั่วถึง และมีหลายภาคส่วนอ่อนแอลงบ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอี
แต่ในมุมตลาดหุ้น มองว่า วันนี้มีวิกฤติเกิดขึ้น จากคนไม่เชื่อมั่น ที่อาจนำไปสู่วิกฤติที่ใหญ่ขึ้นได้
แต่หากดูในด้านผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้โดยภาพรวมยังไม่วิกฤติ หลายบริษัทมีการฟื้นตัวไปเทียบเท่ากับระดับก่อนโควิดแล้ว โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่กว่า 800 บริษัท ที่อยู่ในตลาดที่ยังไม่เจอปัญหา ดังนั้นตลาดหุ้นไทย อาจไม่ใช่ ตัวบ่งชี้ หรือ Indicator ว่าวิกฤติหรือไม่วิกฤติ เพราะการเติบโตของบริษัทไทยวันนี้ มีการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีรายได้ต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้นบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ภาพยังดี
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้า มองว่า ต้องทำประเทศไทยน่าลงทุน ทำให้ไทยเป็นตลาดที่น่าลงทุน สำหรับมากกว่าการให้แรงจูงใจ หรือ Incentive วันนี้ประเทศไทยละเลยการสร้างกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่เรามีหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นกับดักของประเทศ
หากไม่แก้สิ่งเหล่านี้ เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถเดินต่อไปได้ และการประกาศมาตรการแก้หนี้ของภาครัฐในปัจจุบัน ถือว่ามาถูกทาง และต้องทำให้สำเร็จ และถูกจุด
อีกปัญหาที่ทำให้ธุรกิจไม่มาลงทุน เพราะคนไทยมีเงินออม หากดูระบบบำนาญของไทยวันนี้ถือว่าแย่ที่สุดในโลก คนเกษียณแล้วไม่มีเงินเก็บ เพราะประเทศไทยไม่มีระบบบังคับในการออม การออมผ่านกองทุนเลี้ยงชีพ วันนี้มีเพียง 1.8 ล้านคน ขณะที่มีแรงงานในระบบอีกกว่า 30 ล้านคนที่ยังไม่มีการออมรูปแบบดังกล่าว
ดังนั้นสิ่งที่มองว่ารัฐบาลต้องเร่งผลักดันคือ ทำให้กองทุนเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ เพื่อให้30กว่าล้านคนเข้าสู่ระบบได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต ที่ภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนเพื่อให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ให้เอกชนกล้าทำสิ่งเหล่านี้ เรื่องนี้ไม่ควรละเลย และเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำ
เช่นเดียวกันกับการสนับสนุนการลงทุนผ่าน ThaiESG ให้มากขึ้น เพราะคนไทยไม่มีแรงจูงใจในการออมเงิน หากเทียบกับต่างประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อให้คนอยากออมเงินมากขึ้น
หากดูภาพด้านตลาดทุนไทยวันนี้ เขามองว่า จุดเปราะบางของตลาดหุ้นไทย คือ มีนักลงทุนระยะยาวน้อยมาก 80-90%เป็นนักลงระยะสั้นทั้งหมด ทำให้เกิดความผันผวนได้สูง ต่างกับต่างประเทศที่เมื่อเกิดเหตุการณ์กระทบ ตลาดหุ้นปรับลดลง เมื่อหายตกใจจึงปรับตัวขึ้น เพราะมีนักลงทุนระยะยาว
แต่ตลาดหุ้นไทย ดัชนีลงเท่าต่างประเทศ แต่เวลาขึ้น ไม่ได้ขึ้นเท่ากัน ดัชนีลงมาต่อเนื่อง ทำให้ภาพตลาดหุ้นวันนี้ของไทย ถือเป็นตลาดหุ้นที่เกือบแย่ที่สุดในโลก หากไม่นับเคนย่า ดังนั้นต้องสนับสนุนให้เกิดนักลงทุนระยะยาวมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนการลงทุนเช่น ใน ThaiESG ที่ต้องทำมากขึ้น ต้องทำให้เกิดภาคบังคับในการลงทุน เพื่อเพิ่มนักลงทุนระยะยาว เหล่านี้จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเข้มแข้งมากขึ้น และจะเป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เราเจอปัญหาหนี้สูง กู้ยากขึ้น
“วิกฤติตลาดหุ้นไทยวันนี้คือ วิกฤติศรัทธา คนไม่มั่นใจ วันนี้เจอ Short Selling คนมองว่าหุ้นไม่ดี จึงขายทิ้ง และในด้านตลาดตราสารหนี้ เรามีหุ้นกู้ที่จะโรโอเวอร์ปีหน้ากว่า 1ล้านล้านบาท ในนี้มีระดับ BBBขึ้นไป กว่า 90% มีเพียง 5หมื่นล้านที่ไม่มีเรตติ้ง ดังนั้นอย่าเหมารวม อยากสร้างความกังวล วันนี้ต้องช่วยกัน ให้ตลาดเงินตลาดทุนอยู่ในความมั่นใจมากขึ้น”