จนเพราะเกิดมาจน รวยเพราะเกิดมารวย

จนเพราะเกิดมาจน รวยเพราะเกิดมารวย

คนจนส่วนใหญ่ 39%คิดว่าตัวเองจนเพราะเกิดมาจน เช่นเดียวกับคนรวย 57.4% ที่คิดว่าเกิดมารวย ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ความจนความรวย ตกทอดเป็นรุ่นๆ จึงมีลักษณะที่ถาวร

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ดิฉันเคยเขียนบทความหัวข้อเดียวกันนี้ แต่ใส่เครื่องหมายคำถามไว้ที่หัวเรื่อง ชื่อบทความว่า “จนเพราะเกิดมาจน รวยเพราะเกิดมารวย?” โดยมีเนื้อหาหลักๆคือ มีรายงานการสำรวจทัศนะของประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการทางสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ พบว่า “คนจนส่วนใหญ่ 39%คิดว่าตัวเองจนเพราะเกิดมาจน เช่นเดียวกับคนรวย 57.4% ที่คิดว่าเกิดมารวย ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ความจนความรวย ตกทอดเป็นรุ่นๆ จึงมีลักษณะที่ถาวร” ซึ่งดิฉันวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเรานำแนวทางเสรีนิยมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ในระยะเวลา 50 ปีแรก ในขณะที่งบประมาณเรื่องรัฐสวัสดิการมีไม่มากนัก จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มของผู้มี “โอกาส” กับผู้ด้อยโอกาส ทั้งโอกาสในการศึกษา การเข้าถึงเงินทุน ฯลฯ เมื่อดำเนินการมาครึ่งชั่วอายุคน คือประมาณ 3 รุ่น (ปู่ พ่อ ลูก) ทำให้คนเกิดทัศนะว่า ถ้าเกิดมาจน ก็ต้องจนตลอดไป

และดิฉันยังเขียนต่อว่าการที่รัฐมีนโยบายแบบประชานิยมในช่วงนั้น (ต่อจากเสรีนิยม) ทำให้คนที่มีฐานะยากจนรู้สึกว่า เขาต้องได้รับการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา หากจะให้ยุติธรรม รัฐต้องไปเก็บภาษีคนรวยให้มากๆ แล้วเอามาแบ่งแจกจ่ายให้เขา ประกอบกับความเชื่อทางศาสนาที่นำมาใช้ในทางที่ไม่ถูก คือ คิดว่าเป็นเวรเป็นกรรมมาแต่ชาติก่อน จึงยอมรับสภาพโดยดุษฎี ทำให้คนไทยเรามีทัศนะแบบนี้

และดิฉันก็ยกว่า ในพุทธศาสนา มีหลักธรรมหนึ่งที่เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อให้มีความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ซึ่งดิฉันใช้ในการบรรยายเป็นเวลาจนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปี คือ “ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม” หรือธรรมะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งมีหลัก 4 ข้อคือ 1. ความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัดการงานในการหาทรัพย์ คือรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ 2. รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ หรือความหมายปัจจุบันคือ รู้จักออมและลงทุน 3. รู้จักคบคนที่จะเกื้อกูลแก่การงานและทำให้ชีวิตมีความดี ความงาม เจริญก้าวหน้า 4. มีหลักการใช้จ่ายอย่างพอดี ที่เรียกว่า สมชีวิตา

คนที่ด้อยโอกาส สมควรได้รับโอกาสเพิ่มขึ้น แต่ควรสอนให้เขารู้จักทำมาหากิน และให้โอกาสเขาในการศึกษา ทำงาน เข้าถึงเงินทุน ดิฉันยังเขียนต่อว่า ความเชื่อเรื่องเกิดมาจนต้องจนตลอดไป เป็นความเชื่อที่ผิด นักวางแผนการเงินมีความเชื่อเสมอว่า ทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น สุขสบายขึ้น และมีศักยภาพที่จะสามารถทำสิ่งนั้นได้ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถตั้งเป้าหมายชีวิต และทำให้ตนเองบรรลุเป้าหมายนั้น 

เริ่มต้นเราต้องมีความเชื่อก่อนว่า “ความยากจนหรือความร่ำรวย สามารถสร้างขึ้นมาได้ และก็สามารถทำลายได้” มีตัวอย่างมากมาย

วันนี้ดิฉันขอทบทวนหัวข้อนี้อีกครั้ง และเอาเครื่องหมายคำถามออก เพราะณ ปัจจุบัน ความเชื่อผิดๆนั้น เกือบจะเป็นจริงทั้งหมดแล้ว ด้วยพฤติกรรมและค่านิยมของคนไทยทั่วไป ด้วยนโยบายของรัฐที่อาจจะหวังดีแต่ฉาบฉวยเพื่อผลระยะสั้น และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่มาซ้ำเติมซึ่งดิฉันเคยเขียนไปหลายบทความใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ออกมาเห็นชัดเจนในเกือบทุกด้าน แม้นโยบายรัฐในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องรับเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ใน 20 กว่าปีที่ผ่านมา จะมีการเพิ่มการกระจายรายได้ ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการให้โอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการศึกษา แต่ก็พบว่า มีการดัดแปลง หรือหาช่องโหว่ หลอกลวงและเอาประโยชน์จากผู้ไม่รู้อยู่เสมอ ทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้น ยิ่งดิ้นรน ก็ยิ่งลำบาก จนมองไม่เห็นเลยว่า ประชากรส่วนใหญ่ของเราจะไปแข่งขันกับโลกเขาได้อย่างไร

เห็นว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงด่วนเพื่อไม่ให้ความเชื่อกลายเป็นความจริงมีดังนี้

1. เร่งปลูกฝังศีลธรรมที่ดีให้กับคนไทย ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ ให้ละอายและเกรงกลัวต่อบาป เงินที่มาจากการโกงเขา ขโมยเขา เอาเปรียบเขา ล่อลวงเขา เป็นเงินบาป ชีวิตเป็นของมีค่า ทั้งชีวิตของเราและชีวิตของผู้อื่น เน้นการเป็นคนดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หากมีมาก ให้เผื่อแผ่ ให้รู้จักทั้งการเป็นผู้ให้และผู้รับ หลายคนมีปัญหาเพราะรับความช่วยเหลือไม่เป็น เนื้อหาละครและภาพยนตร์ควรเน้นการทำดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และนำค่านิยมที่ดีสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาด้วย 

2. สอนการคิดแบบวิเคราะห์ รู้จักนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน รู้จักหาเหตุผล มีการถกกันโดยมีหัวข้อและประเด็นปัญหาแบบเปิดมากขึ้น เพิ่มข้อสอบแบบอัตนัยที่ต้องเขียนคำตอบเอง ไม่มีตัวเลือกให้ ฝึกและประดิษฐ์ของใช้รวมถึงเครื่องมือและนำอุปกรณ์มาดัดแปลงใช้งาน 

3. สร้างค่านิยมและตัวอย่างที่ดี ของบุคคลต้นแบบในหลากหลายสายอาชีพ ทำเป็นละคร หรือเรื่องเล่าที่น่าประทับใจเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันเรื่องน่าประทับใจมีแต่เรื่องของจีนและตะวันตก ควรมีของไทยบ้าง เช่น ละครเรื่องนางฟ้าไร้นาม ตัวอย่างของบุคคลที่ตั้งใจทำงานจนสามารถยกระดับฐานะได้มีมากมายในหลายวงการ ต้องนำมาเป็นต้นแบบชีวิตของเยาวชน การเสนอข่าวอาชญากรรม ไม่ควรไปเน้นว่าเขาทำอะไร อย่างไร จนกลายเป็นการชี้แนวทางให้คนอื่นเลียนแบบ แต่ไปเน้นที่การถูกจับ หรือการรับการลงโทษ

4. ลด/เลิกค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เช่น “เงินซื้อได้ทุกอย่าง” (จากการสำรวจ คนอเมริกันรุ่นใหม่มีค่านิยมนี้สูงมาก) ลดวัตถุนิยม เลิกค่านิยมผิดๆในการชื่นชมคนที่หลอกลวงผู้อื่นว่าเก่งแบบศรีธนญชัย สอนให้เด็กผู้หญิงรักนวลสงวนตัว เพื่อป้องกันปัญหาคุณแม่วัยใส สอนเด็กผู้ชายให้รู้ถึงความรับผิดชอบที่คนเป็นพ่อต้องมี ฯลฯ 

5. เพิ่มความยุติธรรมในระบบยุติธรรม เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย 

6. เพิ่มค่าตอบแทนให้เพียงพอต่อระดับการครองชีพ ทั้งในระบบราชการและเอกชน และเพิ่มค่าตอบแทนให้กับงานที่มีความเสี่ยง งานสกปรก

7. สร้างความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้นในการทำงานทุกระดับ ทั้งเรื่องของคุณภาพงาน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ผู้ประกอบการหลายคนยืนยันว่าผลิตผล (Productivity) ของแรงงานและพนักงานชาวไทยส่วนใหญ่ สู้ประเทศอื่นไม่ได้ค่ะ

“คนขยัน ใฝ่รู้ สู้งาน คิดอย่างไตร่ตรอง รู้เท่าทัน ไม่หลงในวัตถุนิยม รู้จักเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นที่จะสามารถยกระดับฐานะจากจนเป็นรวยได้”

“ชีวิตกำหนดได้หากเราตั้งใจวางแผนและทำตามแผนให้สำเร็จ”

พบกันใหม่ต้นปีใหม่ค่ะ