ค่าเงินบาทวันนี้ 21 ธ.ค.66  ‘อ่อนค่า‘ ผันผวนตามดอลลาร์แข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 21 ธ.ค.66  ‘อ่อนค่า‘ ผันผวนตามดอลลาร์แข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 21 ธ.ค.66 เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้จังหวะอ่อนของเงินบาท ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าคาด ราคาทองย่อตัว มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.85 - 35.10 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ  34.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.90 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85 - 35.10 บาทต่อดอลลาร์  

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 34.87 - 35.01 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าคาด 

รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ขณะเดียวกัน การทยอยย่อตัวลงสู่โซนแนวรับของราคาทองคำก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าเช่นกัน 

ค่าเงินบาทวันนี้ 21 ธ.ค.66  ‘อ่อนค่า‘ ผันผวนตามดอลลาร์แข็งค่า

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวต้านสำคัญ แต่ก็มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าเหนือระดับดังกล่าวไปได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งนอกจากจะหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ยังอาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยได้เช่นกัน เนื่องจากหุ้นไทยได้ทยอยรีบาวด์ขึ้นมาพอสมควรจากการปรับฐานล่าสุด 

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอคอยรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นในช่วงนี้คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการ การว่างงาน (Jobless Claims) ในคืนนี้ และอัตราเงินเฟ้อ PCE ในคืนพรุ่งนี้ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเผชิญโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน ซึ่งจะช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 35.00 บาทไปได้ไกล

ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร หรือนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจติดโซนแนวรับแถว 34.70 - 34.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาด

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรม และแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างเทขายทำกำไรหุ้นสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดี ตั้งแต่หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุด โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia -3.0%, Apple -1.1% นอกจากนี้ การปรับสถานะถือครอง Options ในช่วงใกล้เทศกาลหยุดยาวของผู้เล่นในตลาดก็อาจมีส่วนสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.47% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.19% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษล่าสุด ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ได้เพิ่มความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +1.9% หลังหุ้นกลุ่มดังกล่าวเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ของสหรัฐ จะปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด และช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ มีจังหวะปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3.90% ได้ แต่ก็เป็นเพียงการปรับตัวขึ้นชั่วคราว หลังภาวะปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือบอนด์ระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ทยอยย่อตัวลงใกล้ระดับ 3.86% ทั้งนี้ เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาพอสมควร ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟด ที่เร็ว และลึก พอสมควร และอาจยังไม่สอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ล่าสุดนัก

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนตั้งแต่ช่วงบ่ายหลังเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยอ่อนค่าลงตามความหวังการลดดอกเบี้ยของ BOE จากรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ชะลอตัวลงชัดเจน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ดีกว่าคาด และความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐ ผันผวน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.4 จุด (กรอบ 102.2 - 102.6 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ.) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 2,044 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งใกล้โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำบ้าง เพื่อลุ้นการรีบาวด์ในกรอบ sideway โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยหากยอดผู้ขอรับสวัสดิการ การว่างงานนั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และออกมาดีกว่าคาด ก็จะยิ่งหนุนภาพเศรษฐกิจสหรัฐ โดยรวมที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำ และเงินบาทได้ 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์