“ลงทุนกับเยาวชนไทยเรื่องทักษะ เตรียมรับงานใหญ่จากจีนและทั่วโลก”
ลงทุนกับเยาวชนไทยเรื่องทักษะ เตรียมรับงานใหญ่จากจีนและทั่วโลก โดยปัญหาการว่างงานของเยาวชนในจีนเดือนมิถุนายน 2566 การว่างงานของเยาวชนอายุ 16-24 ปีในจีนอยู่ที่ 21.3% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานโดยรวมที่ประมาณ 5.5%
ระยะนี้มีข่าวน่าสนใจหลายอย่าง เรื่องเยาวชนไทยและจีน ทั้งในวัยศึกษาและวัยทำงาน เช่น ผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทยวัย 15 ปีที่ตกต่ำ ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าเป็นวิกฤติ ขณะที่ในจีนมีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่เพิ่มสูงอย่างน่าตกใจ แต่มีนักศึกษาจีนเป็นจำนวนมากหลั่งไหลมาเรียนอุดมศึกษาในไทย บางคนขอวีซ่าเรียนภาษาหนึ่งปีก่อนเพื่อดูลู่ทาง บางคนมาเรียนปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น และมีกระแสในโซเชียลมีเดียชวนกันมาตั้งรกรากหาทางทำธุรกิจในไทยเป็นการถาวร
ผลคะแนน PISA ของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลก
ผลการทดสอบ PISAhttps://www.oecd.org/pisa/ของนักเรียนไทยในปี 2565 พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน (ซึ่งทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยคะแนนเฉลี่ย ด้านคณิตศาสตร์ อยู่ที่ 472 ด้านวิทยาศาสตร์ 485 การอ่าน 476) เป็นผลคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี
สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียประกาศว่านี่คือวิกฤติที่แท้จริงของประเทศ ภาครัฐเรียกประชุมด่วนแนวทางการแก้ไขจำเป็นต้องดำเนินการหลายด้านร่วมกัน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเพิ่มโอกาสและทรัพยากรการศึกษาให้กับนักเรียนจากครอบครัวยากจน ปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยเน้นการเรียนการสอนที่เน้นทักษะมากกว่าเนื้อหา เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ โดยเพิ่มจำนวนครูและจัดอบรมครูให้มีคุณภาพ และปรับปรุงผลตอบแทนวิชาชีพให้คุ้มค่า
ปัญหาการว่างงานของเยาวชนในจีน
ปีพ.ศ. 2565 เยาวชนจีนจบปริญญาตรี 4.72 ล้านคน และจบวิชาชีพ 4.95 ล้านคน ตัวเลขเป็นทางการล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 อัตราการว่างงานของเยาวชนอายุ 16-24 ปีในจีนอยู่ที่ 21.3% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานโดยรวมที่ประมาณ 5.5%
สาเหตุของการว่างงานของเยาวชนในจีนมีหลายประการ รวมถึง เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบตกค้างของโควิด กำลังการซื้อต่างประเทศลดลง สงครามการค้ากับสหรัฐ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เปราะบาง
และที่สำคัญคือการผลิตบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยในจีนจะมีปัญหาเรื่อง ทักษะไม่ตรงกับงานในปัจจุบัน การศึกษาให้ความสำคัญกับข้อสอบมากกว่าการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ นายจ้างต้องการผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์ในภาคเทคโนโลยีและบริการใหม่เพิ่มขึ้น แต่การเรียนการสอนตามไม่ทัน และยังมีความเชื่อของครอบครัว โดยสังคมและวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่อยากให้ลูกหลานทำงานในออฟฟิศ และเป็นงานสบายระดับสูง
เยาวชนจีนปัจจุบันที่ตกงานเกิดความเครียดทางการเงินและไม่มั่นใจกับอนาคต จึงทำให้เลื่อนการแต่งงานและการซื้อบ้าน เกิดผลกระทบระยะยาวต่อโครงสร้างประชากรเรื่องการมีลูกน้อย บางกรณีเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงในประเทศ และยังมีเยาวชนจำนวนมากท้อถอยไม่ทำงาน และเลือกที่จะประท้วงแบบเงียบ และหลายคนเริ่มคิดหาทางออกจากจีน ไปหาหนทางใหม่ เช่นในไทยเป็นต้น
รัฐบาลจีนกำลังแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ?
รัฐบาลจีนใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และมุ่งเน้นการศึกษาวิชาชีพ และการฝึกอบรมทักษะเพื่อให้พร้อมกับตลาดงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง และปรับนโยบายปฏิรูปครั้งใหญ่ให้ทักษะกับตำแหน่งว่างงานนั้นใกล้เคียงหรือตรงกัน
สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้บริหารประเทศทั้งไทยและจีนเห็นความสำคัญคล้ายกัน ในเรื่องการฝึกอบรมทักษะและวิชาชีพให้ตรงกับตำแหน่งงานที่ต้องการในปัจจุบัน
ซึ่งสำหรับจีนนั้นได้เรียนรู้จากระบบที่ประสบความสำเร็จเรื่องนี้มาจากเยอรมนี ซึ่ง 52.5% จบอาชีวศึกษา เปรียบเทียบกับ 47.5% จบปริญญาตรีและปริญญาโท
และมีตัวอย่างของบริษัทสำคัญหลายแห่งในจีนซึ่งได้ปฏิบัติแล้ว เช่น
BYD ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าEV มีโครงการประสานงานกับวิทยาลัยการอาชีพอาชีวศึกษา 10 แห่ง เพื่อฝึกทักษะและมีตำแหน่งงานรออยู่
CATL ซึ่งผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า มีโครงการฝึกทักษะป้อนตำแหน่งภายในสามปีถึง 118,914 คน และในจำนวนนี้เกือบ 80% จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
SMIC บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ จ้างทีมวิจัยและพัฒนากว่า 2,200 คนที่ไม่มีปริญญาตรี แต่ได้รับการฝึกทักษะโดยเฉพาะ
ของขวัญปีใหม่สิ่งหนึ่งที่เราจะมอบให้ซึ่งกันและกันได้ คือการลงทุนพัฒนาประชากร เริ่มต้นโดยการให้โอกาสเยาวชนในวัยศึกษาและวัยเริ่มงานมีความพร้อมด้วยทักษะที่ใช้ได้จริง บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนเป็นจำนวนมากอยู่ในระหว่างการลงทุนข้ามประเทศ ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายสำคัญในภูมิภาค
ผู้นำภาครัฐและเอกชนของไทยควรเร่งด่วนมากเป็นกรณีพิเศษ ประสานงานกับประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ให้เยาวชนไทยได้รับการฝึกทักษะ โดยตรงกับตำแหน่งงาน เพื่อพร้อมรับการลงทุนจากต่างประเทศ เยาวชนไทยและเยาวชนจีนควรมีโอกาสฝึกทักษะร่วมกัน รวมทั้งภาษาและวัฒนธรรม
ขณะเดียวกันควรเร่งประสานงานกับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เช่น ประเทศในตะวันตก-สหรัฐอและยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือสิงคโปร์ เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทจากประเทศเหล่านั้น
และในที่สุดเยาวชนไทยจะไม่ต้องฝากความหวังไว้กับเพียงการขยับขึ้นของคะแนน PISA หรือขายไร่นากู้หนี้ยืมสินไปเอาปริญญามาเป็นเกียรติยศแห่งครอบครัว แต่ใช้การฝึกทักษะที่แม่นยำกับตำแหน่งงานในยุคใหม่ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจส่วนบุคคลและมาตุภูมิแบบยั่งยืนครับ