ออมสินเล็งตัดขายหนี้เสีย7หมื่นล้านเข้าเอเอ็มซี

ออมสินเล็งตัดขายหนี้เสีย7หมื่นล้านเข้าเอเอ็มซี

ออมสินเล็งตัดขายหนี้เสีย 7 หมื่นล้านบาทเข้าเอเอ็มซี พร้อมจ้างที่ปรึกษาประเมินราคา เผยแผนร่วมทุนเอเอ็มซีอยู่ระหว่างขออนุญาตธปท.คาดอนุมัติได้ช่วงต้นปี เริ่มดำเนินการได้มี.ค.67

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)ของธนาคารว่า หลังจากได้รับนโยบายการจัดตั้งเอเอ็มซี เพื่อรับซื้อหนี้เสียในส่วนที่เกิดขึ้นของธนาคารและแบงก์รัฐแห่งอื่น ขณะนี้ ธนาคารได้ขออนุญาตการดำเนินการจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะผู้กำกับดูแลแล้ว คาดว่า ธปท.จะพิจารณาอนุมัติได้ในช่วงต้นปีหน้า จากนั้นธนาคารจึงจะเปิดให้เริ่มดำเนินการได้ประมาณเดือนมี.ค.67 

เขากล่าวว่า การจัดตั้งเอเอ็มซีดังกล่าว ธนาคารจะดำเนินการโดยร่วมทุนกับพันธมิตรจำนวน 1 ราย ในสัดส่วน 50:50 มีทุนจดทะเบียนประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งแนวทางการจัดตั้งโดยร่วมทุนกับเอเอ็มซีที่จัดตั้งแล้ว จะทำให้การดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอให้มีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ 

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้เสียเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ที่ประมาณ 90% ของจีดีพี มีเป้าหมายที่จะลดระดับหนี้ครัวเรือนให้มาอยู่ที่ประมาณ 80% ของจีดีพี

สำหรับหนี้เสียที่จะรับซื้อจากธนาคารออมสินนั้น จะเป็นหนี้เสียในกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอี เท่านั้น เพื่อเป็นการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้

“เอเอ็มซีที่เราจะจัดตั้งนี้ จะมีประโยชน์กับลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า เมื่อเขาพลาดพลั้งเป็นหนี้เสีย และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ถ้าเข้ามาอยู่ในเอเอ็มซี ก็จะช่วยให้เขาปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ของแบงก์รัฐนั้น ถือว่า มีข้อจำกัด”

ทั้งนี้ กรณีที่เป็นหนี้เสีย ลูกหนี้จะโดนสถาบันการเงินนำส่งข้อมูลให้บริษัทเครดิต 5 ปี และค้างในระบบของแบงก์อีก 3 ปี รวมเป็นนานถึง 8 ปี แต่หากมีการบริหารจัดการหนี้ด้วยหลักการของเอเอ็มซีจะช่วยลดหนี้ให้ลูกหนี้ได้รวดเร็วขึ้น และจะทำให้ลูกหนี้ถูกปลดออกจากแบล็กลิสต์ของเครดิตบูโร

แหล่งข่าวกล่าวว่า หนี้เสียที่ธนาคารจะโอนไปยังเอเอ็มซีดังกล่าว จะมีมูลหนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้เสียของธนาคารลดลงจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีหนี้เสียอยู่ประมาณ 2.7-2.8% ของสินเชื่อคงค้าง ถือว่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในระบบ ในส่วนราคาประเมินนั้น ขณะนี้ ธนาคารได้ว่าจ้างบริษัทเข้ามาประเมินแล้ว โดยธนาคารก็จะขายตามราคาประเมิน อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ดำเนินการตั้งการสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับหนี้เสียในส่วนนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อตัดขายหนี้ดังกล่าวออกไป รายได้ส่วนนี้ก็จะกลับมาเป็นกำไรของธนาคารทันที