ศก.ไทยปี 2567 ‘ฟื้นตัวยาก’ ห่วง ‘ดอกเบี้ย’ ซ้ำเติมธุรกิจ

ศก.ไทยปี 2567 ‘ฟื้นตัวยาก’ ห่วง ‘ดอกเบี้ย’ ซ้ำเติมธุรกิจ

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้การภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 ฟื้นตัวไม่ง่าย อาจเติบโตได้เพียง 2.8-2.9%ใกล้จีดีพีโลก ชี้ 5 ปีติดต่อกันเศรษฐกิจไทยไม่เคยเติบโตเกินเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ปี 2567 ยังต้องเผชิญกับผลกระทบของ “การขึ้นดอกเบี้ย”เต็มๆ หวั่นภาคธุรกิจ-ลูกหนี้ภาระหนี้พุ่ง

เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ปี 2567 อย่างเป็นทางการ ภายใต้การคาดการณ์ว่าปีนี้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณอ่อนแอลง ควบคู่กับเครื่องจักรของเศรษฐกิจไทย ที่มีเพียง “การท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเดียวเวลานี้ที่ยังเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

แต่เครื่องจักรอื่นๆของเศรษฐกิจไทย อย่างภาคการส่งออก ที่หลายฝ่ายคาดหวังให้กลับมาเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในปีนี้ ยังคงเผชิญความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจทำให้ส่งออกกลับมาฟื้นตัวได้ยากมากขึ้น

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ” นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ DEEP TALK ของกรุงเทพธุรกิจว่า หากดูทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2567 คาดว่าอาจเห็นภาพชะลอตัวลง โดยจากการคาดการณ์ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 2.9% จากปีที่ผ่านมาที่ 3% เช่นเดียวกับภาพเศรษฐกิจใหญ่ๆของโลกเศรษฐกิจที่คาดจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะยุโรป ที่อาจเห็นเศรษฐกิจเข้าสู่ Technical Recession

เช่นเดียวกันคู่ค้าหลักของไทย อย่างจีนที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 4-4.5% เท่านั้น จากปีก่อนที่เติบโต 5.2-5.4% และมองว่าระยะยาวเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตได้เพียงระดับ 3% หากจีนไม่สามารถพลิกฟื้นปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ พลิกฟื้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาได้ จะเหลือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพียง 2 เครื่องยนต์ที่จะเพิ่งพาได้ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อขายในประเทศ

“แน่นอนว่า จีนต้องเน้นสองเครื่องจักรหลัก โดยเฉพาะ การผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เพราะปี 2567 ประเทศไทยคาดหวังให้ส่งออก และการท่องเที่ยวกลับมาเป็นพระเอก แต่หากจีนเร่งการส่งออก สิ่งที่ตามมาคือ สินค้าจีนอาจทะลักเข้าไทย และไทยมีโอกาสที่จะขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ขาดดุลมหาศาลอยู่แล้ว”
 

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ง่าย!

กลับมามองภาพเศรษฐกิจไทยปี 2567 เชื่อว่า การเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ง่าย ต่างกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดการณ์ว่า จะเห็นภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวแน่นอน แต่เหล่านี้ เป็นภาพที่ไม่มั่นใจ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่เคยเติบโตกว่า เศรษฐกิจโลกมา 5 ปีติดต่อกันแล้ว ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเติบโต 3% ส่วนของไทยทาง ธปท. คาดการณ์ว่าจะเติบโต 2.4% ดังนั้นปีนี้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 2.9% แต่ของไทย ธปท. คาดว่าจะขยายตัวราว 3.2-3.4% ซึ่งก็มีคำถามอยู่ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้เกินเศรษฐกิจโลกหรือไม่

นายศุภวุฒิ กล่าวด้วยว่า การที่ประเทศจีน เร่งการผลิตและส่งออกไปต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าไปจีนลดลงต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา จนถึงหลังโควิด ไทยขาดดุลการค้า จากการส่งออกของจีนมากขึ้น รวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย.) ไทยขาดดุลราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้นปี 2567 เป็นปีที่ต้องติดตาม เรื่องดุลการค้า การส่งออก และการนำเข้า อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูว่า  การผลักดันดิจิทัลวอลเล็ต จะทำได้หรือไม่ เพราะภาพวันนี้ลำบากมากขึ้น จากกระแสการกดดันดังกล่าว ซึ่งหากสามารถทำได้ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ และแม้ดิจิทัลวอลเล็ตทำได้ ก็ยังมีความเสี่ยงว่าอาจทำได้ในครึ่งปีหลัง 2567 ไปแล้ว ซึ่งผลบวกกับเศรษฐกิจมีไม่มากนัก

ดังนั้น หากมองภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้เพียง 2.9% หรือต่ำลง เหลือเพียง 2.8% ซึ่งไม่รวมผลจากดิจิทัลวอลเล็ต จากเศรษฐกิจโลกที่คาดขยายตัว 2.9%

เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยเต็มปี

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ห่วงคือ ปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา กว่าจะมีผลกระทบสู่ระบบเศรษฐกิจ ต้องรอถึง 1ปี ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยช่วงที่ผ่านมา ที่มาพร้อมกับเงินเฟ้อที่ลดลงเร็ว ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นมหาศาล จึงเป็นห่วงว่า ดอกเบี้ยจริงที่เพิ่มขึ้น จะสร้างภาระให้กับภาคธุรกิจ และครัวเรือนมากขึ้น ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยจริงค่อนข้างมากในปีนี้

เขากล่าวด้วยว่า จากการคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐาน เชื่อว่าจะเพิ่มมาอยู่ที่ 1.2% จากระดับปัจจุบันที่ 0.5% แต่หากระยะข้างหน้า เงินเฟ้อไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และติดอยู่ที่ 0.5% ระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ 2.50% จะเป็นระดับที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป และทำให้นโยบายการเงินตึงตัวเกินไป ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวยากขึ้นตามไปด้วย

“การแถลงของกนง.ที่ผ่านมา มองว่าระดับดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2.50%เป็นระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้ภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว แต่วันนี้ สิ่งที่ตั้งคำถามคือ แบงก์เริ่มไม่ปล่อยกู้แล้ว ยิ่งหากเอสเอ็มอีไม่สามารถขายพันธบัตรได้เต็มที่ ก็ต้องไปกู้เครดิตจากแบงก์ ความตึงตัวด้านสภาพคล่องจะเกิดขึ้นอีกมากในกลางปีนี้ และหากดูการขึ้นดอกเบี้ยของไทย พบว่า เราขึ้นมา 1 เท่าตัวจากปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อเราลงจาก 6% สวนกับเฟดที่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อสูง แต่ของเราไม่ใช่ เงินเฟ้อเราลดฮวบ แต่ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสวน ดังนั้นเป็นวิธีการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างมาก”

นายศุภวุฒิ ยังตั้งคำถามต่อว่า แน่นอน การขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา เป็นการรักษาขีดความสามารถการดำเนินนโยบายการเงิน( Policy Space) แต่การขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 1.5% ไหลลงมาจากระดับ 2.6% จากไตรมาสแรกปี 2566 ดังนั้นเก็บ Policy Space เพื่ออะไร? เพราะการลดดอกเบี้ย ไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจโดยทันที และต้องรอเวลาถึง 12 เดือนกว่าที่ผลของดอกเบี้ยจะมีผล เพราะมี Implenentation lags ดังนั้นการไปลดดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้าอาจไม่ได้ช่วย

หวั่นเอกชน-ครัวเรือนเผชิญภาระหนี้อ่วม

นอกจากนี้ สิ่งที่กังวลถัดมา จากผลของดอกเบี้ยขึ้น คือปัญหาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชนจะสูงขึ้น ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อพื้นฐานมาอยู่ที่ 0.5% ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยบวกขึ้นมา 2% ส่วนนี้ทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นตัวที่สำคัญมากเพื่อช่วยให้ประชาชนหลุดจากปัญหาหนี้สินคือ การสนับสนุนให้คนมีรายได้เพิ่ม เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เช่นเดียวกันกับการลดหนี้สาธารณะของภาครัฐลง ต้องแก้ด้วยการเพิ่มจีดีพีให้เติบโตเร็วกว่าหนี้สาธารณะ

สุดท้ายอีกกลุ่มที่เป็นห่วง คือ ปัญหาจากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของภาคเอกชน เป็นสิ่งที่ กนง. แสดงความเป็นห่วงในช่วงที่ผ่านมา จากผลของดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะการเงินที่ตึงตัว ดังนั้นความเป็นห่วง กรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ซึ่งในปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระกว่า 1ล้านล้านบาท จะเป็นตัวชี้วัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะการเงินปีนี้จะตึงตัวหรือไม่

ดังนั้นความเสี่ยงคือ ภาวะการเงินจะตึงตัวมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งตัวที่จะชี้วัดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดูจาก โมเมนตัมของจีดีพีเติบโตลดลง และเงินเฟ้อยังไหลลงหรือไม่ หากเกิดขึ้นทั้งสองด้าน ภาวะการเงินจะยิ่งตึงตัวมากขึ้น