นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงปัจจัยเสี่ยง รั้ง‘จีดีพี’ไทยปี67เติบโตต่ำ3%

นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงปัจจัยเสี่ยง  รั้ง‘จีดีพี’ไทยปี67เติบโตต่ำ3%

“สศค.” มองเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวได้แต่เผชิญความเสี่ยงสูง “ทีดีอาร์ไอ” หวั่นศก.อาจตกอยู่ในภาวะซึมยาว 2-3 ปีข้างหน้า “เกียรตินาคินภัทร” ลั่น“จีดีพี” โตต่ำ 3% ชี้ไม่มีทางกลับไปโตได้เหมือนเดิม “อีไอซี” ห่วงปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพียบ ทำให้เติบโตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอนขึ้น

เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังเต็มไปด้วย “ความหวัง” ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวกลับมาได้ จากการชะลอตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยว การส่งออก ที่จะกลับมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ หาก โครงการ “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ได้รับการอนุมัติจากสภาฯ ก็ยิ่งเป็นส่วน “หนุน” ต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากขึ้น 

แต่ภายใต้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ฟื้นตัวขึ้น แต่ยังเต็มไปด้วยความกังวล และความเสี่ยงที่มากขึ้น เพราะหากเครื่องจักรของเศรษฐกิจไทย ไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามคาด การหวังพึ่งเครื่องจักรในประเทศคงไม่เพียงพอ ที่จะ “เข็น” เศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตได้

สศค.รับมือศก.ไทย67เสี่ยงมากขึ้น

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองเศรษฐกิจไทยในปี 67 มีโอกาสขยายตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 66 แต่ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ เศรษฐกิจยังมีความยืดหยุ่นสูงและภาครัฐได้เตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไว้แล้ว

“ปี 67 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความคาดหวังสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดย สศค. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 66 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7% ต่อปี โดยการฟื้นตัวดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า”

โดยการท่องเที่ยวจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย สปป.ลาว เวียดนาม และสิงคโปร์ และคาดจะกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงระดับ 90% ของช่วงก่อนโควิดในปี 67 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด แต่ไทยยังคงเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน และหวังการฟื้นตัวในปีนี้ ได้

ส่วนการส่งออก มีสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเฉพาะจากสินค้าในหมวดหม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ อุปกรณ์โทรศัพท์ และยานยนต์ ซึ่ง สศค. คาดการณ์มูลค่าส่งออกทั้งปี 67 จะขยายตัวที่ 4.4% หลังจากหดตัวประมาณ -1.8% ในปี 66

นอกจากนี้ มาตรการรักษาการเติบโตเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายการเติมเงินผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว เช่น การฟรีวีซ่าจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อผลักดันการบริโภคเอกชนเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 67 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า สถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ (FDI) มาไทย ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 66 อยู่ที่ 3.98 แสนล้านบาท ขยายตัวถึง 43 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีประเทศจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็น 3 ลำดับแรกของประเทศที่ขอรับการส่งเสริม ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมที่ไทยต้องการสนับสนุน 

ธปท.ชี้ภาพรวมปล่อยสินเชื่อยังไปได้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าโดยรวมภาพรวมการปล่อยสินเชื่อยังพอไปได้ แม้ที่ผ่านมา สินเชื่อเอสเอ็มอี ชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีการระมัดระวังมากขึ้น ตามแนวทางการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งแตกต่างกับธุรกิจรายใหญ่ ที่ยังเครดิตการันตีที่ดี

“เอสเอ็มอี ก็ต้องรับว่าแบงก์มีการระมัดระวังมากขึ้น เพื่อประกันความเสี่ยง ก็ต้องยอมรับว่า กลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่า ไม่เหมือนกับธุรกิจรายใหญ่ที่มีเครดิตการันตี ส่วนมาตรการแก้หนี้ของภาครัฐที่ออกมาล่าสุด ที่ผ่านมา ธปท. เชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดี และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และได้มีการหารือรัฐบาล และประสานงานกันก่อนหน้าออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง”

ทีดีอาร์ไอ’ชี้ศก.โตแบบทวิลักษณ์

นายนณริฎ พิศลบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจตกอยู่ในภาวะที่ซึมยาวในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เพราะมาตรการของรัฐบาลที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ส่วนมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายดึงดูดนักลงทุน เม็ดเงินที่จะเข้ามาก็จะไม่ใช่ระยะใกล้นี้ และ รวมถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน

นอกจากนี้มีปัจจัยจากการเติบโตเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ที่ไม่สดใสทั้ง จีนและสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่อาจจะไม่สดใสนัก ส่วนนักท่องเที่ยวก็จะไม่เข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 40 ล้านคนในปีนี้ และอาจจะกระทบยาวไปอีก 2 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้มากกว่า 3.6% จะถือว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี แต่ถ้าขยายตัวได้ต่ำกว่า จะถือว่า ขยายตัวได้ไม่ดีนัก ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 3.1% เท่านั้น

“ในปี 67 เราจะเห็นภาพที่ว่า ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะมีการเติบโต เพราะขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของคน โดยเราจะเห็นภาพการโตแบบทวิลักษณ์ การโตของคนที่มีกำลังซื้อ คนที่ไม่มีก็แย่ไปเลย คนฐานะปานกลางร่ำรวย เช่น เราขายรถยนต์อีวีได้มาก ร้านค้าโมเดิร์นดี แต่อีกด้าน พวกรากหญ้าขายไม่ได้ เช่น ตลาดนัด ภาพนี้จะเกิดพร้อมกัน จะมีความปั่นป่วน ถ้าภาครัฐไม่จับสัญญาณให้ดี ใช้นโยบายไม่ถูกต้อง เศรษฐกิจก็จะไม่ฟื้น”

‘เคเคพี’แนะรีฟอร์มโครงสร้างจริงจัง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นภาพที่ค่อนข้างกังวล เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดที่เรียกว่า inflection point คือไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม ปัจจุบันมีสัญญาณหลายเรื่องที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีทางกลับไปเติบโตเหมือนอดีตได้

ด้านแรกอัตราการเติบโตของจีดีพี หรือเศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงเรื่อยๆ จากเคยเติบโตระดับ 7% เหลือ 5% และ เหลือ 3% นับตั้งแต่โควิด-19 เป็นต้นมา และ เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่เริ่มเจออัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำกว่าเดิม

ตัวที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ลดลงที่ชัดเจนคือ การท่องเที่ยวปี 2565 นักท่องเที่ยวไทยทำได้ 11 ล้านคน ปี 2566 คาดการณ์ขึ้นมา 28 ล้านคน ขึ้นมาราว 16-17 ล้านคนหากเทียบกับปี 2565 โดยนักท่องเที่ยวที่ 1 ล้านคน มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจราว 0.2-0.3% ของจีดีพี แต่ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน contribute ต่อเศรษฐกิจควรเกินระดับ 3% แต่ปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.5-2.6%

นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยต่ำลงต่อเนื่อง จากอดีตเป็นประเทศส่งออกรถยนต์หลายล้านคน แต่ปัจจุบันไทยต้องนำเข้ารถอีวี จากจีน แรงส่งส่วนนี้ลดลงต่อเนื่อง และยังเข้าสู่สังคมสูงวัยหรือ Aging Population จะเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจไทย ไม่สามารถกลับไปมีแรงส่ง และกลับไปเติบโตเหมือนอดีตได้

ปัญหาในข้างต้น จะเริ่มเห็นอาการชัดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นวันนี้ เศรษฐกิจไทยจะทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อเนื่อง ต้องเริ่มสนใจการปฏิรูป การรีฟอร์มโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะการหวังแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะกระตุ้นผ่านดีมานด์อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปดังนั้นต้องกลับมาซีเรียสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจริงจัง เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเผชิญอยู่หนักหนามาก

"ดังนั้น คีย์เวิร์ดคือ ทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย เพิ่มสกิล เพิ่มทักษะแรงงานให้ดีขึ้น วันนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เคยพูดถึงลูกศรดอกที่ 3 คือ คือการปรับโครงสร้าง ขณะที่ประเทศอื่นๆ พูดกันไปถึง การปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร ปฏิรูปประสิทธิภาพแรงงาน ส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้คนมาลงทุน เราพูดกันน้อยเกินไปเพราะมัวแต่ห่วงภาพระยะสั้น”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่าสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์ของเกียรตินาคินภัทรปี 67 หากไม่มีดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ที่ 2.9% และหากมีนโยบายดังกล่าวเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 3.7% 

“ปีนี้เราอาจอยู่ในภาวะต้มกบไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น และฉุดความสามารถการแข่งขันเราลงไปเรื่อยๆ เราเคยคิดว่าเศรษฐกิจไทยต้องโต 5 % แต่วันนี้เราโตที่ระดับ 3% ก็ถือว่าดีมากแล้ว แต่หากเลวร้ายกว่านั้นเศรษฐกิจจะโตต่ำลงไปกว่านี้อีก เหล่านี้คือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก”

EICฟันธงโตช้า-เปราะบาง-ไม่แน่นอน

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไม่ได้มีมุมมองเปลี่ยนไป หลังจากมีการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 66 และ ปี 67, ปี 68 ลดลง โดย EIC ยังมองธีมเศรษฐกิจเปลี่ยนไปกว่าปีที่ผ่านมา จากมุมมองที่ค่อนข้างดีไปสู่มุมที่กังวลใจมากขึ้น

คาดว่าธีมการเติบโตปี 67 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอนมากขึ้น และมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจาก ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อนาคตอาจไม่เห็นเศรษฐกิจจีนเติบโตเกิน 8-9% แล้ว ดังนั้น การคาดหวังส่งออกและท่องเที่ยวจากจีน คงพึ่งพาได้น้อยลง

ถัดมา ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเริ่มเห็นผลกระทบลามไปสู่สงครามมากขึ้น และความเสี่ยงภาคการเงินที่เริ่มเห็นผลของการที่ดอกเบี้ยขึ้นมาสักระยะด้วยอัตราเร็วและแรงในต่างประเทศ ที่จะสร้างความเปราะบาง และความเสี่ยงต่อเชิงระบบภาคการเงินได้ กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ของประชาชนที่ลดลง แม้วันนี้จะยังไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจหมุนลง ความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ อาจลามไปสู่ภาคอื่นๆ ได้ และ

สุดท้ายคือ ความเสี่ยงจาก Climate Change ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง น้ำท่วม แล้งเร็ว พายุ ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 แม้ประเมินว่าฟื้นตัวสู่ระดับ 3% หากไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต แต่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น จากภาคการเงินเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย