เปิดแชมป์ ’กองทุน‘ 10 อันดับ รีเทิร์นแจ่ม สวนกระแสตลาดปี66 ผันผวน

เปิดแชมป์ ’กองทุน‘ 10 อันดับ รีเทิร์นแจ่ม สวนกระแสตลาดปี66 ผันผวน

ผ่านไปแล้วกับ ตลาดการลงทุนทั่วโลกในปี 2566 เป็นปีที่มีความท้าทายกับความไม่แน่นอนมากมาย ทั้งภาวะอัตราดอกเบี้ยระดับสูงทั่วโลก ระดับเงินเฟ้อสูง วิกฤตธนาคารในสหรัฐ และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

Key Points: 

  • ปี66 มีสินทรัพย์ดีๆ กระจายอยู่ในหลายส่วนของโลก นำโดยดัชนี NASDAQ ผลตอบแทน +44.26% รองมาเป็น ญี่ปุ่น ดัชนี NIKKEI 225 ผลตอบแทน +29.07% ส่วน  ดัชนี SET ทรุด -15.15%  รั้งท้ายสุดในโลก
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Thematic Trigger 3 (SCBGTTG3) มีผลตอบแทน 34.97% สูงสุดในปี 66
  • กองทุน "หุ้นญี่ปุ่น" ให้ผลตอบแทนสุดแจ่มและมีจำนวนมากสุด 5 กองทุน จาก 10 กองทุน ผลตอบแทนสูงสุดในปี 66
  • มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ส่องแนวทางการลงทุนในปี 67 เห็นโอกาสลงทุนหุ้นในบางอุตสาหกรรมและในบางประเทศ คาดให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดโดยรวม 

 

เปิดแชมป์ ’กองทุน‘ 10 อันดับ รีเทิร์นแจ่ม สวนกระแสตลาดปี66 ผันผวน

ขณะที่ภาพตลาดหุ้นไทยปี 2566 ดัชนี SET ทรุด -15.15% ปิดระดับ 1415.85 จุด รั้งท้ายสุดในโลก ขณะที่เมื่อเทียบผลตอบแทนกับตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดยสหรัฐอเมริกา ดัชนี NASDAQ ผลตอบแทน +44.26% รองมาเป็น ญี่ปุ่น ดัชนี NIKKEI225 ผลตอบแทน +29.07% 

นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์ดีๆ กระจายอยู่ในหลายส่วนของโลก  หากพอร์ตลงทุนมีการกระจายการลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนการลงทุนเป็นบวกท่ามกลางความผันผวนได้

สะท้อนยัง กองทุน”ที่มีผลตอบแทนสูงสุด10 อันดับในปี2566 โดยข้อมูลจาก “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)”  ณ 28 ธ.ค.2566 พบว่า

อันดับ 1  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Thematic Trigger 3 (SCBGTTG3) มีผลตอบแทน 34.97%

อันดับ 2 กองทุนเปิดกรุงศรีไพรเวท แคปปิตอลระยะยาว (KFLTPC-UI) มีผลตอบแทน 30.76%

อันดับ 3 กองทุนเปิดทหารไทย Japan Active Equity (TMBJPNAE) มีผลตอบแทน 19.80%

อันดับ 4 กองทุนเปิดธนซาตเจแปน อิควิตี้

(T-JapaneQ) มีผลตอบแทน 19.66%

อันดับ 5 กองทุนเปิดธนชาต Global Equity Fund

(T-GlobalEQ) มีผลตอบแทน 17.44%

อันดับ 6 กองทุนเปิดเค เจแปน หุ้นทุน เพื่อการเลี้ยงชีพ (KJPRMF) มีผลตอบแทน 17.43%

อันดับ 7 กองทุนเปิดธนชาต Global Equity เพื่อการเลี้ยงชีพ (T-GlobalEQRMF) มีผลตอบแทน 17.33%

อันดับ 8 กองทุนเปิดเค ญี่ปุ่น หุ้นทุน (K-JP-A(D)) มีผลตอบแทน  17.13%

อันดับ9 กองทุนเปิด เจแปน สมอล แอนด์ มิดแคป ฟันด์ (JSM) มีผลตอบแทน 15.31%

อันดับ 10 กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เจแปน สมอล แอนด์ มิดแคป ฟันด์ (UOBSJSM) มีผลตอบแทน 15.29%

โดยในจำนวนนี้ "หุ้นญี่ปุ่น" โดดเด่น มีถึง 5 กองทุน ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด หนึ่งกระแสลมที่ช่วยโหมให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นคึกคักขึ้นมาอีกก็คือ การที่นักลงทุนระดับโลกอย่างปู่ Warren Buffett ได้เพิ่มการลงทุนผ่าน Berkshire Hathaway ในญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 5 หุ้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้นเอง 

ส่วนการลงทุนในปี 2567 จะมีแนวทางอย่างไรนั้น“นักวิเคราะห์ มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) “ มีมุมมองว่า สำหรับ “ตลาดหุ้น”ยังเห็นโอกาสลงทุนในบางอุตสาหกรรมในบางประเทศที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดโดยรวมใจ

โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นที่แนะนำในปี 2567

1.หุ้นขนาดเล็กมีความน่าสนใจมากที่สุดสำหรับในกลุ่มของหุ้นที่ปัจจุบันมูลค่าตลาดยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือเคยเป็นหุ้นที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา

2.หุ้นธนาคาร รวมถึงกลุ่มสื่อสาร กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มสาธารณูปโภค คืออุตสาหกรรมที่น่าลงทุน

3.ตลาดหุ้นในอังกฤษและในตลาดเกิดใหม่ หุ้นเทคโนโลยีในจีน แม้มีความผันผวนมากแต่ก็น่าลงทุน

4.การลงทุนใน Second-derivative artificial intelligence ในตลาดอเมริกา

โอกาสการลงทุนในตลาดหนี้ที่แนะนำในปี 2567

1.ลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงเป็นบวก เช่น ตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้วเนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแล้วโดยเฉพาะตราสารหนี้อายุสั้นที่ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารอายุยาว (Inverted yield curve) การลงทุนใน Mortgage-backed securities เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับที่สูงมากและระดับราคาน่าสนใจ การลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงจากอัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน และลงทุนใน Inflation-linked bonds

2.ลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้น เนื่องจากปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารระยะยาว หรืออยู่ในภาวะ Inverted yield curve แต่ก็มีความเสี่ยงจากการที่ต้องลงทุนใหม่โดยอาจได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าเดิมได้เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ต่ำลงในอนาคต ซึ่งต่างจากการลงทุนในตราสารระยะยาวที่สามารถ Lock ผลตอบแทนที่กำหนดให้คงอยู่ได้ยาวนานกว่า

3.ให้น้ำหนักการลงทุนที่มากในตราสารภาครัฐ แม้ว่าตราสารหนี้เอกชนจะให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าก็ตาม แต่เนื่องจากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนของตราสารภาครัฐและเอกชนเริ่มแคบลงจากช่วงก่อนหน้า (Credit spreads)