สรุป! หลักเกณฑ์โครงการ “Easy E-Receipt” ลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท
สรุปโครงการ “Easy E-Receipt” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี เข้าร่วมได้ทุกคน เช็คเงื่อนไขร่วมโครงการ Easy E-Receipt อ่านรายละเอียดได้ที่นี่
ชัดเจนแล้วกับโครงการ “E-Refund” ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "Easy E-Receipt" คือโครงการสำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคนที่ถึงเกณฑ์เสียภาษี รวมถึงผู้ที่อกหักไม่เข้าเงื่อนไขโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทด้วย
โดยโครงการ “Easy E-Receipt” ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการสูงสุด 50,000 บาท ซึ่งต้องเป็นใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามเกณฑ์รายได้สูงสุดที่อัตรา 35% เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
ทั้งนี้ ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขใช้สิทธิต่างๆ ตามที่กำหนดดังนี้
- เงื่อนไขการใช้สิทธิ Easy E-Receipt มีอะไรบ้าง
เนื่องจากโครงการ Easy E-Receipt เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้การช่วยเหลือประชาชน รวมถึงร้านค้าที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) โดยมีเงื่อนไขการใช้สิทธิสำหรับมาตรการ Easy E-Receipt ดังนี้
- ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล)
- ซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารทั้งในรูปแบบปกติและในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-book) รวมถึงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ใช้สิทธิได้เฉพาะผู้ที่มีหลักฐานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
- สินค้าและบริการใดบ้างไม่สามารถใช้สิทธิได้
โครงการ Easy E-Receipt ได้มีการกำหนดสินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการได้ ทั้งสิ้น 7 รายการด้วยกัน ได้แก่
1.ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
2.ค่าซื้อยาสูบ
3.ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
4.ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
5.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6.ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการ และผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 67 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 67 ก็ตาม
7.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- สินค้าใดบ้างสามารถใช้สิทธิได้ แม้ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีผู้มีรายได้ซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
โดยมีสินค้าและบริการที่สามารถใช้สิทธิได้จำนวน 3 รายการ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
1.ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
2.ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
3.ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
- ใบกำกับภาษีแบบไหนใช้เป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีได้
ใบกำกับภาษีที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีโครงการ Easy E-Receipt ได้ จะต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของ
สินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
ทั้งนี้ e-Tax Invoice ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดด้วย
โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วม e-Tax Invoice ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร คลิกที่นี่ ซึ่งจะแสดงรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
สรุป
มาตรการ Easy E-Receipt ที่เกิดขึ้นนี้ อธิบดีกรมสรรพากรได้กล่าวว่า จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 นี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง และทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ประมาณ 70,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.18ดังนั้น ผู้มีรายได้บุคคลธรรมดาที่เสียภาษี อย่าลืมไปใช้สิทธิกัน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทสไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในอนาคต
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting