'เอเชีย' ในวันที่กราฟการเติบโต 'ญี่ปุ่น - อินเดีย' สวนทาง 'เศรษฐกิจแดนมังกร'
"เศรษฐกิจจีน" โตชะลอจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก สวนทางกับม้ามืดอย่าง 'อินเดีย - ญี่ปุ่น' ที่ค่อยๆ มีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่อง ด้านนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า 'โมเมนตัม' การเติบโตของญี่ปุ่น และอินเดียนั้นห่างจากจีนมากขึ้น
Key Points
- เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ในฐานะผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกในปี 2010
- เศรษฐกิจจีนเริ่มถดถอยหลังนโยบายความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่งของสี จิ้นผิง
- ญี่ปุ่น และอินเดียมีแนวโน้มโตแซงหน้าจีนอย่างเห็นได้ชัด
ปี 2010 อาจเป็นจุดที่โลกหมกมุ่นอยู่กับจีนในฐานะ "ขุมพลังของเศรษฐกิจโลก" ซึ่งคล้ายกันกับญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 และความสนใจในเสือของภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้) ในช่วงทศวรรษ 1990
ในปีนั้นประเทศจีนเพิ่งกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก บัญชีเดินสะพัดเพิ่งทําจุดสูงสุดที่ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการเติบโตของจีดีพีแท้จริงอยู่ที่ค่าเฉลี่ยขั้นทําลายสถิติที่ 10% ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัทจีนโดยธนาคารเกษตรแห่งประเทศจีน (The Agricultural Bank of China) ในปี 2010 ผลักดันให้ตลาดหุ้นแดนมังกรขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของตารางลีกระดับโลก โดยในแง่ของการเพิ่มทุน ไอพีโอจีนแซงหน้าวอลล์สตรีทเสียอีก
ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของจีนจากวิกฤติการเงินโลกซึ่งเกิดจากเงินกู้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเข้ามามีบทบาทกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศจนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ภาพทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอดีตอันไกลโพ้น โดยในเวลานั้นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนมีความชัดเจนสําหรับผู้กําหนดนโยบาย และผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ
กล่าวคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจพึ่งพาการลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วยหนี้ (Debt-fueled Investment) มากเกินไปและการบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอ ทว่าความกังวลเหล่านี้ถูกกลบด้วยผลการดําเนินงานทางเศรษฐกิจโดยรวมที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงลําดับความสําคัญของรัฐบาลที่ห่างไกลจากการปฏิรูปได้เปิดเผยความท้าทายเชิงโครงสร้างของจีนมากขึ้น โดยคําถามเร่งด่วนเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนปัจจุบันคือ รัฐบาลสามารถกําหนดเป้าหมายการเติบโต 5% ต่อไปได้นานแค่ไหน และจีนยังเป็นประเทศที่ลงทุนได้อยู่หรือไม่ เหมือนกับที่ จีน่า ไรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐถ่ายทอดจากการสนทนาของเธอกับบริษัทสหรัฐเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการปฏิรูปเศรษฐกิจในสามประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียส่งต่อไปยังอินเดีย และอาจเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่แล้ว แต่ก็ได้ดําเนินการปฏิรูปที่น้อยอยู่แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์
โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจมีความสําคัญ ซึ่งช่องว่างในโมเมนตัมของทั้งสามประเทศถ่างมากขึ้นจากการประเมินเศรษฐกิจจีนที่ลดลง และแนวโน้มการเติบโตของญี่ปุ่น และอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้น
ทศวรรษที่ผ่านมาอินเดีย และญี่ปุ่นถูกมองว่าจําเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สําคัญ วันนี้ทั้งสองยังคงถูกรบกวนจากความไร้ประสิทธิภาพจำนวนหนึ่ง ทว่าทั้งคู่ได้ก้าวไปข้างหน้าในพื้นที่ ที่สร้างความประหลาดใจให้นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมภาษี (Tax Unification) และโครงสร้างพื้นฐานสําหรับอินเดีย และการย้ายถิ่นฐาน และการกํากับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ของญี่ปุ่น
ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีนเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติส่วนหนึ่งในโลก และพาดหัวข่าวเชิงลบซึ่งอาจสรุปภาพรวมของจีนได้ดีที่สุดจากปกของดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ในเดือนพ.ค.2566 คือ "Peak China?" หรือ “ประเทศจีนถึงจุดสูงสุดแล้วหรือ?” เพราะจากสถานการณ์ทั้งหมดจีนค่อยๆ ทิ้งห่างจากการปฏิรูปเชิงเศรษฐกิจแล้วไปเน้นย้ำถึงบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นอีกครั้ง
ตั้งแต่การปราบปรามภาคเทคโนโลยีอย่างทื่อๆ ไปจนถึงการแทรกตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในบอร์ดบริษัทเอกชน จีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ทําให้ภาคเอกชนยอมจํานนต่อเป้าหมายของพรรคในการใช้ความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่งมากขึ้น
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์