ก.ล.ต. เตือนนักลงทุน รู้ทันพฤติการณ์ 'การปั่นหุ้น'
“ตลาดหุ้น” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง และต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน จากข้อมูลสถิติของ SET และ mai ซึ่งมีการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เฉลี่ยสูงถึงปีละ 19.22%
เนื่องด้วยลักษณะของผลตอบแทนที่สูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น จึงมีคนที่ก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้น โดยที่อาจจะยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือมีความรู้ ความเข้าใจที่มากพอ ทำให้ต้องเจ็บตัวจากการขาดทุนในตลาดหุ้น เกิดเป็นบทเรียนที่เลวร้ายทางจิตใจ และไม่กล้าที่จะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีก อันเป็นการตัดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนและต่อยอดความมั่งคั่งทางการเงินของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย
สำหรับประเทศไทยนั้น “ตลาดหุ้นไทย” หรือ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ถูกกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลกิจการต่อสาธารณชนด้วยความโปร่งใส และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Market) มีความเป็นธรรมแก่ผู้ลงทุน
แต่ถึงกระนั้น ภายใต้ระบบที่เป็นสากลนี้ ยังคงมีผู้ไม่ประสงค์ดีที่มองหาโอกาส และอาศัยช่องโหว่จากความโลภ และความกลัวของผู้ลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่นจากการสร้างปริมาณ และ/หรือราคาหลักทรัพย์ หรือที่รู้จักกันว่า “การปั่นหุ้น” อันเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ลงทุนทั่วไป และเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์
โดยกลวิธี และพฤติการณ์ที่นำไปสู่การปั่นหุ้น อาจมีหลายวิธี ซึ่งผู้ลงทุนควรรู้ให้เท่าทัน ตัวอย่างเช่น
(1) การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ : เป็นการปั่นหุ้นโดยใช้ข่าวด้วยการจงใจสร้างข่าวเท็จหรือข่าวที่จะก่อให้เกิดความสำคัญผิด ซึ่งน่าจะกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ข่าวในเชิงบวก เพื่อดึงดูด และเร่งรัดให้ผู้ลงทุนเข้าซื้อหุ้นของกิจการ เช่น การมีโครงการใหม่ มีการร่วมทุนกับบริษัทในต่างประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีการเติบโต โดยก่อนที่ข่าวจะออกไป ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจเข้ามาทยอยซื้อหุ้นตั้งแต่ช่วงราคาถูก แล้วค่อยเผยแพร่ข่าวเพื่อให้ผู้ลงทุนรายอื่นเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท และเมื่อเกิดแรงซื้อที่มากพอ จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ผู้ไม่ประสงค์ดีก็จะเข้ามาขายทำกำไร ซึ่งในที่สุดอาจส่งผลให้ราคาหุ้นนั้นปรับตัวดิ่งลงจากแรงขาย ทำให้ผู้ลงทุนที่หลงเชื่อข่าวเท็จ และเข้ามาซื้อหุ้นไว้ที่ราคาสูง ต้องประสบผลขาดทุนอย่างมากหรืออาจติดดอยได้
นอกจากนี้ การจงใจเผยแพร่ข้อมูลของกิจการอันเป็นเท็จ ยังอาจมีเจตนาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้ลงทุนสถาบัน เป็นต้น เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญของกิจการได้
(2) การผลักดันหรือพยุงหรือทุบราคาหลักทรัพย์ : เป็นการจงใจทำให้ราคาหลักทรัพย์หรือราคาหุ้นที่อยู่ในตลาด ณ ขณะนั้นสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง (Overpriced / Underpriced) หรือไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพตลาด เพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องราคาหรือปริมาณ โดยผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้วิธีส่งคำสั่งซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจูงใจให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสภาพการซื้อขายของหุ้นในขณะนั้น และรีบตัดสินใจเข้าซื้อขายตาม
เนื่องจากกลัวจะซื้อหรือขายหุ้นไม่ทัน หรือที่เรียกว่า “ตกขบวน” หรือในทางกลับกัน อาจใช้วิธีการเทขายหุ้นบนกระดานอย่างหนัก เพื่อกดราคาหุ้นให้ต่ำลง และหวังผลให้ผู้ลงทุนรายอื่นๆ เกิดความกลัวว่าราคาอาจจะลดต่ำลงไปมากกว่านี้ จนต้องยอมตัดใจขายหุ้นของตนเองออกมาในราคาที่ขาดทุน รวมทั้งเข้าไปซื้อหรือขายหุ้นเพื่อมิให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในลักษณะพยุงราคา
ทั้งนี้ ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจเลือกใช้วิธีการเหล่านี้กับหุ้นที่มีราคา และ Free Float ต่ำ เพื่อให้ตนบรรลุเจตนาที่จะทำให้ผู้ลงทุนรายอื่นเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณหุ้น หรือทำให้ราคาหรือปริมาณหุ้นนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และดึงดูดให้เป็นจุดสนใจของผู้ลงทุนในตลาด ณ ขณะนั้นได้ง่าย
(3) การส่งคำสั่งเพื่อจับคู่ซื้อขายโดยบุคคลคนเดียวกัน (Wash Trade) : กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การส่งคำสั่งซื้อและขายเพื่อให้เกิดการจับคู่ (match) กันเอง โดยเจตนาทำให้ดูเหมือนว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การส่งคำสั่งทั้งซื้อ และขายในบุคคลคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ใกล้กัน ในลักษณะของการร่วมกันดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำให้ผู้ลงทุนรายอื่นๆ เกิดการเข้าใจผิด และเลือกที่จะเข้ามาซื้อหุ้นตัวนั้นด้วย และเมื่อราคาหุ้นนั้นสูงขึ้นไปถึงระดับหนึ่งอันเนื่องมาจากแรงซื้อที่เพิ่มมากขึ้น กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีก็มักจะเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรในราคาที่สูง ซึ่งในที่สุดแล้ว ราคาหุ้นนั้นอาจดิ่งกลับลงมาอย่างหนักได้
(4) การใช้กลไกด้าน Demand และ Supply เพื่อโน้มน้าวผู้ลงทุน : เป็นที่ทราบกันดีของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นว่า ระบบการซื้อขายบนกระดานหุ้นนั้นจะประกอบไปด้วยการทำคำเสนอซื้อ (Bid) และการทำคำเสนอขาย (Offer) โดยระบบการซื้อขายจะจับคู่ (matching) คำสั่งตามลำดับของราคา และเวลาที่ดีที่สุด (Price then Time Priority) ซึ่งการที่ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงนั้น ควรจะเป็นไปตามกลไกของแรงซื้อ และแรงขาย (Demand และ Supply) ที่เกิดขึ้นตามจริง
แต่ถึงกระนั้นอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดี เจตนาที่จะพยายามชี้นำหรือควบคุมราคาหุ้นทางอ้อม เช่น การส่ง Bid ในปริมาณมาก โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อหุ้นนั้นจริง เพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดว่าหุ้นตัวนั้นอาจกำลังเป็นที่ต้องการของคนหมู่มาก ส่งผลให้เกิดการเข้ามาลงทุนในช่วงนั้นด้วยความสำคัญผิด ซึ่งผู้ไม่ประสงค์ดีเหล่านั้นอาจมีการถอน Bid ออกได้ทุกเมื่อ และเหลือเพียง Bid ของผู้ลงทุนที่หลงเชื่อ และตั้งใจจะซื้อหุ้นไว้ที่ราคานั้น ๆ ซึ่งอาจไม่ได้มีมากอย่างที่เข้าใจนั่นเอง
นอกจากนี้ พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ลงทุนยังมีอีกหลายวิธี อาทิ การใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) เช่น การใช้ข้อมูลภายในเชิงบวกมาใช้ในการเข้าซื้อหุ้นก่อนบุคคลอื่น หรือการล่วงรู้ข้อมูลสำคัญภายในเชิงลบมาใช้ในการขายหุ้นก่อนที่ข่าวนั้นจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อให้ได้ราคาที่ดีกว่าผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนทั้งสิ้น
ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ลงทุนในตลาดทุน โดยร่วมกับผู้ที่อยู่ในตลาดทุนทุกภาคส่วนในการสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ และการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่บริษัทจดทะเบียน และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งประสาน และร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยการเพิ่มมาตรการหรือกลไกในการบริหารจัดการ และควบคุมความเสี่ยงภายในบริษัทจดทะเบียน เพื่อตรวจจับ ยับยั้ง ป้องปราม และการเตือนผู้ลงทุน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนหรือตลาดในวงกว้าง รวมถึงการเพิ่มความเข้มข้นใน “การบังคับใช้กฎหมาย” กับผู้กระทำความผิดอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และสมควรกับการกระทำผิด ตลอดจนกำชับให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ลงทุนมากที่สุด ต้องมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำอย่างครบถ้วน และเป็นธรรม เช่น ข้อมูลพื้นฐานของกิจการที่ผู้ลงทุนสนใจ การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน รายชื่อหลักทรัพย์ที่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการส่งคำสั่งซื้อขาย (หลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย หรือ Turnover List) ตลอดจนการให้ข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุนด้วยนั่นเอง
สำหรับตัวผู้ลงทุนเอง ควรศึกษาหาข้อมูลความรู้ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้สามารถลงทุนได้อย่างรู้เท่าทัน และหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผย เช่น ข่าวสำคัญจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ ข้อมูลรายงานสำคัญต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถวางแผน และกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการเงินลงทุนของผู้ลงทุนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์