10 แบงก์ตั้งสำรองพุ่ง 2.3 แสนล้าน ‘KTB-CIMBT-BAY’ สำรองเพิ่มสูงสุด
เปิดไส้ใน 10 แบงก์พบสำรองอื้อ 2.3 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเฉียด20% กรุงไทย-ซีไอเอ็มบีไทย-กรุงศรี ขึ้นแท่นตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสูงสุด ชี้สำรองเพิ่มจากลูกหนี้ธุรกิจรายใหญ่เสื่อมคุณภาพ รองรับเศรษฐกิจปี67มีความไม่แน่นอนสูง
รายงานผลการดำเนินงานครบแล้วสำหรับ 10 ธนาคารพาณิชย์ ตัวที่น่าสนใจ ไม่ต่างกับ “กำไรสุทธิ” คือ การตั้งสำรองหนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ ที่ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะออกจากวิกฤติโควิด-19แล้วก็ตาม
สะท้อนการระมัดระวังความเสี่ยงอย่างมากของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมองว่า เศรษฐกิจข้างหน้ายังมีความเสี่ยง ที่อาจกระทบต่อคุณภาพของพอร์ตลูกหนี้ ทำให้ยังมีการตั้งสำรองระดับสูงต่อเนื่อง
ซึ่งหากดูข้อมูลการตั้งสำรองของ 10ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบไปด้วย เอสซีบี เอกซ์(SCB) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) พบว่า โดยรวมอยู่ที่ 2.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.08% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
การตั้งสำรองดังกล่าว ถือเป็นระดับ “เทียบเท่า” กับการทำกำไรสุทธิของ 10 ธนาคารพาณิชย์ ปีที่ทำได้ 2.3 แสนล้านบาทเช่นเดียวกัน
แต่การตั้งสำรองเพิ่มขึ้น กลับสวนทางกับ “หนี้เสีย”โดยรวมของระบบแบงก์ที่มีทิศทางลดลง เพราะหากดูตัวเลขหนี้เสียคงค้าง ของ10แบงก์พบว่า ลดลงด้วยซ้ำที่ 0.20% มาอยู่ที่ 5.11แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ 5.12แสนล้านบาท
KTB-CIMBT-BAYติด3อันดับสำรองเพิ่มขึ้นมากที่สุด
กลับมาดูไส้ในการตั้งสำรองของ 10แบงก์ พบว่า แบงก์ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดา 10แบงก์
อันดับแรก คือ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52.37% มาอยู่ที่ 37,095 ล้านบาท
แม้กรุงไทยจะตั้งสำรองอยู่ระดับสูง แต่หากดู “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือเอ็นพีแอล พบว่า ต่ำลง หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 3.08% ลดลงจาก 3.26% หลักๆมาจากการที่แบงก์มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา จากลูกค้ารายใหญ่ หนึ่งราย ที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง ทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
อันดับสอง คือ CIMBT ตั้งสำรองเพิ่มขั้น 48% มาอยู่ที่ 8,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.3% จาก 3.2% โดยการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น มาจากการที่ธนาคารมีนโยบายในการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่ออย่างรัดกุม และมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีคุณภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพะที่มีอยู่ ควบคู่กันการแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 3 คือBAY สำรองเพิ่มขึ้น โดยมาอยู่ที่ 35,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.64% สอดคล้องกับทิศทางหนี้เสียที่ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.53% จาก 2.32%ในช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยสำรองที่เพิ่มขึ้น กรุงศรีฯระบุว่า มาจากการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวังจองกรุงศรี โดยพาะสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ที่ทำให้สำรองสูงขึ้น ซึ่งธนาคารยังมีความพยายามต่อเนื่องในการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ
หากดูแบงก์ขนาดใหญ่อย่าง SCB พบว่าตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งปีอยู่ที่ 43,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.88% เพิ่มขึ้นตามหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น 3.44% จาก 3.34%
SCBสำรองพุ่งรองรับเศรษฐกิจเสี่ยงสูง
โดย SCB ระบุว่า การสำรองที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการตั้งสำรองเพิ่มเติม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่แน่นอนมากขึ้น ส่วนหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเคหะที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ KBANK มีการตั้งสำรองใกล้เคียงกับปีก่อน ที่ 51,840 ล้านบาท แต่ถือว่ามากที่สุด หากเทียบกับบรรดา 10 แบงก์ โดยการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ที่ยังอยู่ในระดับสูง หลักๆก็เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และภายใต้การยึดหลักความระมัดระวังในการพิจารณาสำรองเพื่อเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
ส่วน BBL ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันมาอยู่ที่ 33,666ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.12% โดยมาจากการตั้งสำรองภายใต้หลักความระมัดระวังและรอบคอบ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก จากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ส่วน TTB สำรองเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 22,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.96% หลักๆที่เพิ่มขึ้นมาจาก การติดตามพอร์ตสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยธนาคารเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยง หรือเพิ่มระดับ LRR ผ่านการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ธนาคารยังเพิ่มระดับ LLR(การปฏิเสธสินเชื่อ) ซึ่งเปรียบได้กับกันชนรองรับความเสี่ยง ผ่านการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
สำรองพุ่งรองรับ ‘ITD’คุณภาพหนี้ตกชั้น
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด กล่าวว่า การตั้งสำรองของระบบแบงก์ สูงขึ้น โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ITD เผื่อคุณภาพหนี้ตกชั้น หลังมีการเลื่อนการชำระจ่ายคืนผลตอบแทนหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้น ส่งผลให้บางแบงก์ มีการเลื่อนชั้น ITD มาอยู่ในกลุ่ม สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM)
นอกจากนี้ สำรองที่เพิ่มขึ้น ยังมาจาก ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ที่อาจมีผลต่อคุณภาพหนี้โดยรวมของแบงก์ให้ปรับลดลงได้ในปีนี้ สะท้อนความอ่อนแอลูกหนี้ ทั้งในสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อธุรกิจที่อาจถูกจับตามากขึ้น
ส่วนแนวโน้มการตั้งสำรองปีนี้ คาดว่า สำรองน่าจะอยู่ใกล้เคียงกับปี 2566 หรือลดลงได้เล็กน้อย หากสถานการณ์ลูกหนี้ รวมถึงเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ