สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผนึกบ.สมาชิก พร้อมรับประกันภัยรถอีวี เต็มรูปแบบ
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับ บริษัทสมาชิก พร้อมรับประกันภัยรถอีวี เต็มรูปแบบ เผยเบี้ยสูงกว่ารถสันดาปทั่วไป 10-15% แต่ในอนาคตมีโอกาสเบี้ยลดได้ และยังให้ส่วนลดประวัติ "ผู้ขับขี" เท่านั้น พร้อมทำเอกสารแนบท้ายคุ้มครองแบตเดอร์รี่ฯ แบบเปลี่ยนใหม่ หวังลดข้อพิพาท
สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ จัดประชุมชี้แจงกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เพื่อสร้างความเข้าใจ พร้อมแนวทางการปฏิบัติ ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าให้กับบริษัทสมาชิก เพื่อลดข้อพิพาทต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมความพร้อมบริษัทประกันภัยในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนสูงขึ้น สอดรับกับนโยบาย ของภาครัฐที่สนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. มอบนโยบายการกำกับการปฏิบัติงานตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า
นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมฯ โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อดำเนินการพัฒนาและจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งให้เงิน อุดหนุนสูงสุด 1 แสนบาท ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีสถิติเติบโตสูงขึ้นจากปี 2565 ถึง 4 เท่าตัว
อีกทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 100,219 คัน เติบโตสูงขึ้นถึง 380% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีเพียง 20,816 คันเท่านั้น สะท้อนความต้องการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น
สมาคมฯ จึงได้จัดการประชุมชี้แจง “กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV)” ตามคำสั่งนายทะเบียน ที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ย ประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันกับบริษัทสมาชิก และ แนวทางการปฏิบัติด้านการรับประกันภัยและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
โดยมีรายละเอียดการชี้แจง ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของคําสั่งนายทะเบียน ที่ 47/2566 รายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัย และ พิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันการกำหนดพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉลี่ยจะสูงกว่ารถยนต์สันดาปอยู่ที่ประมาณ 10-15% เป็นผลมาจากค่าแรง ค่าอะไหล่ของรถยนต์ ไฟฟ้าที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงความเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมอะไหล่ให้กลับสู่สภาพเดิมของ รถยนต์ไฟฟ้านั้นสูงกว่ารถยนต์สันดาป
แต่ในอนาคตหากมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อาจ ส่งผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยปรับลดลงได้ ซึ่งปัจจัยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นั้นยังคงกำหนดใช้เช่นเดียวกับรถยนต์สันดาป แต่มีการกำหนดปัจจัยเพิ่มเติมในส่วนของพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกำหนดเป็นแบบระบุชื่อผู้ขับขี่เท่านั้น (สำหรับการใช้ส่วน บุคคล) โดยการกำหนดปัจจัยพฤติกรรมผู้ขับขี่ดังกล่าวจะกำหนดใช้ในลักษณะการให้ส่วนลดเพิ่มเติมสำหรับ ผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ดี หรือเป็นผู้ขับขี่ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นฝ่ายประมาท
นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า กำหนดให้ความคุ้มครองแบตเตอรี่รวมอยู่กับตัว รถยนต์ แต่เนื่องจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีมูลค่าสูงเกินกว่า50% ของมูลค่ารถยนต์ จึงต้องมีการ กำหนดมูลค่าค่าเสื่อมราคาให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดข้อร้องเรียนในอนาคต
ดังนั้นจึงได้มี การกำหนดอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยเทียบเคียงกับมูลค่ารถยนต์สันดาป ไปก่อน ซึ่งกำหนดมูลค่าค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ลดลงในอัตราเฉลี่ยปีละ 10% โดยได้มีการจัดทำเอกสาร หรือแบบ Replacement เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัยที่ต้องการให้บริษัทชดใช้ความเสียหาย ของแบตเตอรี่โดยการเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ใหม่
นายวาสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดประชุมชี้แจงในครั้งนี้ มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการ ประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารด้านการประกันภัยรถยนต์ของบริษัทสมาชิก และผู้บริหารจากสำนักงาน คปภ. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ซึ่งการจัดประชุมชี้แจงจะช่วยสร้างความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติทั้งในด้าน การรับประกันภัย และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมถึงภาพรวมโครงสร้างระบบฐานข้อมูลกลางด้านการ ประกันภัย (IBS) ของการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าให้กับทุกภาคส่วนมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) นี้ มุ่งเน้นให้ความคุ้มครอง และอัตราเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัย อันจะเป็นการแก้ไข ปัญหาและลดข้อพิพาทต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า