เปิดสถิติรอบ 13ปี กนง. 'เสียงแตก' ไปแล้วกี่ครั้ง!
เปิดสถิติการประชุมกนง.รอบ 13 ปีนับตั้งแต่ มีการเปิดเผยผลการลงมติของคณะกรรมการกนง. พบ “เสียงแตก” ทั้งหมด 34 ครั้งในรอบ 13 ปี ส่วนใหญ่เสียงที่แตกมีมติให้คงดอกเบี้ยถึง 22 ครั้ง ขณะที่มติขอให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% มีเพียง1ครั้งในประวัติศาสตร์กนง.
ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งแรกของปี 2567 โดยคณะกรรมการกนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% เนื่องจากมองว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยาว
แม้ภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 จะออกมาต่ำกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ ที่ใกล้เคียง 2% หรือต่ำกว่านั้น สำหรับปี 66 และ ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจเป็น 2.5-3% สำหรับปี 67 จากประมาณการณ์เดิมที่คาด จะขยายตัว 2.4% และ 3.2% เป็นลำดับ โดยไม่รวมปัจจัยบวกจากดิจิทัลวอลเล็ต
หากมองไปข้างหน้า ธปท.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ จากการบริโภคในประเทศ ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อแม้จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และติดลบมากกว่า 1 ไตรมาสที่ผ่านมา และการลดลงของเงินเฟ้อ ยังสามารถพิสูจน์ได้ว่า มาจาก “ปัจจัยเฉพาะ” ที่มาจากการเข้ามาดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และการปรับลดลงของอาหารสดต่างๆ แต่เชื่อว่าระยะข้างหน้า เงินเฟ้อ ยังสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3 %ได้
กนง.ขอรอดูผลเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจอีก3เดือน
เหตุผลที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ยังมีมติ “คงดอกเบี้ย” เพราะหลายปัจจัยยังมีความคลุมเครือ ที่ต้องอาศัยความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจจริง ของสภาพัฒน์ที่จะออกมาในช่วง 2สัปดาห์ข้างหน้า และตัวเลขเงินเฟ้อ ที่จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า รวมถึงติดตามปัจจัยเชิงโครงสร้าง ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน จึงเป็นเหตุให้ยังคงเลือก “คงดอกเบี้ยนโยบาย”ต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม การลงมติครั้งนี้ ยังมีอีก 2 เสียงมองว่า ควร “ลดดอกเบี้ย” ลง 0.25% เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว และฟื้นตัวช้า แถมยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญให้ “ศักยภาพ”เศรษฐกิจไทยข้างหน้าลดลง
ถามว่า มติที่ให้ “คง” อัตราดอกเบี้ย ที่ออกมา “เสียงแตก” เซอร์ไพรส์ต่อตลาดหรือคาดการณ์ของนักลงทุนหรือไม่ ก็อาจไม่เซอร์ไพรส์ เพราะมีบางส่วนคาดการณ์ไว้แล้ว ว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการบางส่วนมองว่าควรลดดอกเบี้ย จากภาพเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง จากความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ด้อยลง “การลดดอกเบี้ย” ก็อาจมีส่วนในการเข้ามาช่วยลดภาระลูกหนี้ให้ลดลงได้
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า การลดดอกเบี้ย อาจยังไม่เห็นเร็วๆนี้ อาจต้องรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ลดดอกเบี้ยลงก่อน กนง.ถึงสามารถปรับทิศทางดอกเบี้ยไทยลงมาได้ เพราะสิ่งที่กังวลคือ หากดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกับธนาคารกลางหลัก อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และเกิดเงินทุนไหลออกต่อเนื่องจากตลาดเงินตลาดทุนไทย จนอาจย้อนกลับมากระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยได้
เปิดมติกนง.ย้อนหลัง13ปี
หากย้อนดูการลงมติของคณะกรรมการกนง.ในอดีต นับตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยผลของการพิจารณาของคณะกรรมการกนง. ต่อสาธารณะชน นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ก็นับเป็นเวลา 13 ปี
โดยย้อนดูเฉพาะ การลงมติที่แตกต่างกัน หรือ “เสียงแตก” ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีทั้งหมด 34 ครั้ง ในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่มีการเปิดเผยมติกนง.
เสียงแตกในที่นี้ แบ่งเป็นเสียงข้างมาก ให้ “คงดอกเบี้ย” ที่ 22 ครั้ง
และมีเสียงข้างมาก ให้ “ลดดอกเบี้ย” ถึง 9 ครั้งที่ 0.25%
ขณะที่ เสียงข้างหน้ามากที่มติให้ “ขึ้นดอกเบี้ย” 0.25% มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น
และที่เรียกร้องให้ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50% มีเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์ของกนง.
“เสียงแตก” ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ จากการมอง สถานการณ์ต่างๆที่แตกต่างกัน ทั้ง ภาพรวมเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ล้วนมีผลทำให้การ “ชั่งน้ำหนัก” ของกนง. เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้
เพราะเศรษฐกิจไทยเวลานี้ ไม่ได้มีความราบเรียบ และยังมีความท้าทายสูง จากปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีกมาก ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากเสียงที่มีข้อเรียกร้องให้ “ลดดอกเบี้ย” เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน ที่มีผลต่อการคาดการณ์ “โอกาส” ในการลดดอกเบี้ยที่จะมีมากขึ้นในระยะข้างหน้านี้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยเข้าไปมีส่วนช่วยอุ้ม หรือลดภาระลูกหนี้ ให้เบาบางลงบ้าง ท่ามกลาง ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่!