ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นจีดีพีปี 67 เหลือ 2.8% จาก 3.1%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นจีดีพี ปี 2567 เหลือ 2.8% จาก 3.1% ชี้แม้ฟื้นตัวจากปี 2566 แต่มาจากฐานต่ำ นักท่องเที่ยวเพิ่ม ชี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงหลุดเป้า หากการเบิกจ่ายภาครัฐมาช้ากว่าคาด แนะไทยติดกับดักจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ขาดเครื่องจักรใหม่กระตุ้น
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับเดียวกันกับปี 2566 การค้าโลกน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกจะค่อยๆ ปรับลดลงจากเงินเฟ้อที่กำลังปรับลดสู่เป้าของธนาคารกลางทั่วโลก จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย
รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับลด และผู้ประกอบการจีนยังคงลดราคาสินค้าต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประเมินว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีอยู่ และได้ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ตลาดการเงินมองว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2567
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% แม้จะฟื้นตัว แต่ยังไม่ใช่ปีแห่งการเปิดแชมเปญ หรือดีใจ เพราะเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง
จากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และขาดเครื่องจักรใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่การลงทุนของไทย ถือว่าเติบโตต่ำต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะหากเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ที่พบว่าการลงทุนของไทย ต่อจีดีพียังต่ำกว่าสองประเทศข้างต้นค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคเกษตรของไทยเริ่มล้าหลัง เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ Productivity ในภาคเกษตรของไทยลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับคู่แข่ง เช่นเดียวกันรายได้ภาคเกษตรที่ต่ำกว่าเซกเตอร์อื่นๆ
“แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะดีกว่าปีก่อน แต่ไม่ใช่ปีแห่งการเปิดแชมเปญ หรือดีใจ เพราะการเติบโตมาจากฐานต่ำ และนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นเป็น 36 ล้านคน และการเบิกจ่ายภาครัฐยังช้า มีเพียง 5 เดือนเท่านั้น ในการเบิกจ่าย นับแต่ตั้งแต่เม.ย.ไปแล้ว ดังนั้นเหล่านี้ก็มีความเสี่ยง เพราะหากการเบิกจ่ายภาครัฐไม่ได้เป็นไปตามคาด ก็มีโอกาสที่เป้าที่วางไว้อาจจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย”
อย่างไรก็ตามมองว่า ปัจจุบัน ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และ ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในปี 2567 นี้ จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
นายบุรินทร์ ยังกล่าวต่อว่า ภายใต้กระแสของการค้าโลกที่มีนโยบายกีดกันการค้ายังเข้มข้นอยู่ แนวโน้มการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากทั่วโลก และเทคโนโลยีอย่าง AI ที่กำลังมีผลกระทบทั่วโลก ส่วนประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ มากมาย จำเป็นต้องเร่งหาเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มองว่าในการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ศูนย์กลางด้าน Data Center หรือการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในการลงทุนรูปแบบอื่นๆ มีกุญแจสำคัญคือ ประเทศไทยต้องมีพลังงานสะอาดเพียงพอในราคาที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิง Green Economy เข้ามาเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์