เริ่มแล้ว แบงก์ชาติ เปิดเวที ถก ‘Virtual bank’
เริ่มแล้ว แบงก์ชาติ เปิดเวที ถก ‘Virtual bank ’วันนี้
ก่อน ธปท. ดีเดย์ยื่นขอไลเซนส์ 20 มี.ค.นี้
แบงก์ชาติ” อยากเห็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจไทย
ก้าวย่างสำคัญ ของ Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา ที่กำลังจะถูกเริ่มต้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกำหนดเปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครขอใบอนุญาต หรือขอไลเซนส์ ในการจัดตั้ง Virtual bank สามารถยื่นใบสมัครต่อธปท.ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ 20 มี.ค. ถึง 19 ก.ย.ปี 2567 หรือ 6 เดือนเต็มหลังจากนี้
ก่อนเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ แบงก์ชาติมีการเปิดเวทีย่อย ที่เป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในวันนี้ 19 มี.ค. สำหรับผู้ที่สนใจ และต้องการรายละเอียดในการยื่นคำขอจัดตั้ง Virtual bank ทั้งการชี้แจงรายละเอียดจากประกาศกระทรวงการคลัง ตลอดจนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ความชัดเจนแก่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนยื่นขอไลเซนส์
หากย้อนดูเป้าหมายสำคัญ สำหรับการจัดตั้ง Virtual bank สิ่งที่แบงก์ชาติอยากเห็น จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นสำคัญ
และผู้ให้บริการจะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย ภายใต้ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 5,000 ล้านบาท และสามารถให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขา
โดย 7คุณลักษณะสำคัญ สำหรับผู้ให้บริการ Virtual bank ต้องสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามความคาดหวังของธปท. เช่น การให้บริการผ่านเทคโนโลยี และข้อมูล เพื่อให้เกิดการพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น
และไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้ฝากเงิน และผู้ใช้บริการในวงกว้าง การให้บริการผ่านเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และบริการอย่างต่อเนื่อง และผู้ให้บริการต้องมีความรู้ ความสามารถและธรรมาภิบาลของผู้ขอและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ที่สำคัญ คือต้องมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ธุรกิจการเงิน และ Risk Culture ที่ดี และต้องมีความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ธปท. อยากเห็น (Green line) คือคาดหวัง Virtual bank ครั้งนี้ หัวใจหลักคือ เข้าไปตอบโจทย์ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้า โดยเฉพาะรายย่อย และเอสเอ็มอีมากขึ้น และลูกค้าต้องมีประสบการณ์ที่ดี จากการใช้บริการการเงินดิจิทัล สุดท้ายหวังให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสม ทั้งเชิงคุณภาพและราคา
และสิ่งที่ธปท. ไม่อยากเห็น (Red line) คือ การทำธุรกิจแบบไม่ยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อฐานะ และความมั่นคง และการแข่งขันที่ไม่เหมาะสม จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ที่สำคัญไม่อยากเห็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ธปท. ไม่อยากเห็น โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม จะกลายมาเป็นคำถามมากมายในปัจจุบันธปท. ในฐานะผู้กำกับจะ “ปิดกั้น” หรือสามารถหลบหลีก กลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม ที่อยู่ทั้งในตลาดเงิน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โทรคมนาคมต่างๆ ไม่ให้เข้ามา หรือยิ่งมีอำนาจมากขึ้นได้อย่างไร
ในแง่การกำหนดทุนจดทะเบียนไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย และเป็นเหมือนการปิดกั้นรายเล็กเข้ามาแข่งขัน แต่กำลังเอื้อต่อกลุ่มทุนรายใหญ่ให้เข้าแข่งขันหรือไม่
หากดูความท้าทายการประกอบธุรกิจผ่าน Virtual bank ถือว่า มีไม่ใช่น้อยที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องก้าวข้ามให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการผ่านเทคโนโลยีและดิจิทัลจะมีเสถียรภาพมากน้อยขนาดไหน เพราะคนที่ให้บริการผ่าน Virtual bank ในระยะข้างหน้าจะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้เกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์
โดยเฉพาะการให้บริการผ่านดิจิทัลที่จะต้องไม่ล่ม หรือมีปัญหาติดต่อกันไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี ที่ยังเป็นคำถามว่าจะสามารถทำได้หรือไม่
เพราะหากดูการให้บริการผ่านดิจิทัลในปัจจุบันที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บางแห่ง ระบบยังล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี ดังนั้น การเข้ามาปิดช่องโหว่ตรงนี้ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ยากเช่นเดียวกันในการประกอบธุรกิจครั้งนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการตั้งคำถามค่อนข้างมากมายถึง การให้บริการในอนาคต ว่า ต้นทุน หรือราคาในการใช้บริการ จะถูกลงจริงหรือ เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้น? เพราะ การให้บริการผ่าน Virtual bank อาจไม่ได้ถูกเสมอไป เพราะการลงทุนในการตั้งกิจการ ทำระบบ ของ Virtual bank ถือว่าไม่น้อย
โดยเฉพาะการลงทุนในระบบไอที ที่ธปท.คาดการณ์ว่า อาจลงทุนมากถึง 1,200 ล้านบาท ดังนั้นการต้องแบกต้นทุนสูงๆ เหล่านี้อาจย้อนกลับมา ทำร้ายผู้บริโภคหรือไม่ ผ่านการคิดบริการทางการเงินที่แพงขึ้นกว่าเดิม
เหล่านี้อาจยังเป็นคำถามที่คาใจและ บทพิสูจน์สำคัญว่า การให้บริการผ่าน Virtual bank ครั้งนี้จะก้าวข้ามความท้าทายไปได้หรือไม่ ก่อนที่จะให้บริการจริงในอีกเกือบ 2 ปีข้างหน้า