อัตราดอกเบี้ยขาลงเริ่มแล้ว แต่ไม่ใช่ที่สหรัฐ
อาทิตย์ที่แล้วธนาคารกลางอย่างน้อย 8 แห่งประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย การตัดสินใจมีทั้งลด คงและขึ้น แสดงถึงความหลากหลายของภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกขณะนี้
ที่โดดเด่นคือธนาคารกลางประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นธนาคารกลางแรกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้เหตุผลว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาลงที่ธนาคารกลางอื่นๆ จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน
คําถามคือที่ดอกเบี้ยเริ่มลงเพราะธนาคารกลางห่วงเงินเฟ้อน้อยลง หรือเพราะห่วงเศรษฐกิจ นี่คือประเด็นที่จะเขียนนี้วันนี้
อาทิตย์ที่แล้วพูดได้ว่าเป็นจุดหักเหสำคัญของทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก เริ่มจากวันอังคารที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หมดยุคอัตราดอกเบี้ยติดลบให้เหตุผลว่าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้า
ต่อมาวันพุธ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดการเงินคาดหลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ไม่เป็นใจ คือยืนระยะไม่ลดลงต่อเนื่อง แต่ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงในไม่ช้า
ต่อมาวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ ธนาคารกลางนอร์เวย์ และอังกฤษ คงอัตราดอกเบี้ย และให้สัญญาณว่าสถานการณ์มีความเหมาะสมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยลงในระยะต่อไป
สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ ตรุกีและไต้หวันขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างเงินเฟ้อสูง ขณะที่เม็กซิโกลดอัตราดอกเบี้ยอ้างเศรษฐกิจที่ชะลอและอัตราเงินเฟ้อที่ประเมินว่าจะลดลงสู่เป้า
จากทั้งหมดที่เกิดขึ้น กรณีธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ การตัดสินใจต้องถือว่ามีน้ำหนักต่อตลาดการเงิน เพราะเป็นเศรษฐกิจกลุ่มท๊อปสิบของโลกในแง่รายได้ต่อหัว เป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกที่ลดดอกเบี้ย
และธนาคารกลางสวิสมีความน่าเชื่อถือในสายตาตลาดการเงินเพราะความมีวินัยในการทํานโยบายการเงินที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน
เศรษฐกิจสวิสได้รับผลกระทบมากจากวิกฤติโควิด สงครามในยุโรป และดิสรัปชั่นทางอุปทาน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยต้องปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและฐานะของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารกลางสวิสก็สามารถบริหารจัดการความท้าทายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 1.2 และประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อว่ามีเสถียรภาพ คืออยู่ที่ร้อยละ 1.4 ปีนี้ ร้อยละ 1.2 ปีหน้า และร้อยละ 1.1 ปีถัดไป จึงมีเหตุมีผลที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ความสำคัญมากขึ้นกับเศรษฐกิจที่กําลังชะลอ
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.25-5.50 ตามการคาดการณ์ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐเข้มแข็ง อัตราการว่างงานต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่อยากเห็น คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ยืนระยะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 และ 4 ตามลำดับ ไม่ปรับลงสู่เป้าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นเงื่อนไขของธนาคารกลางสหรัฐที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม คราวนี้ในเอกสารสรุปประมาณการเศรษฐกิจ (SEP) ของเฟดล่าสุด ความเห็นของกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัว มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงได้สามครั้งปีนี้
ขณะที่ประมาณการชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้เดือนธันวาคม อัตราการว่างงานจะตํ่ากว่าและอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นกว่าเดิม ความไม่สอดคล้องนี้ทําให้มีการมองว่าเฟดอยากลดดอกเบี้ย แต่ยังไม่สามารถทําได้เพราะตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไม่เป็นใจ
ทำให้ประธานเฟดยํ้าว่าการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่ข้อมูลเศรษฐกิจที่จะเข้ามา ไม่มีอะไรแน่นอน แต่ตลาดการเงินก็ตอบสนองในทิศทางว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลงปีนี้
เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการตัดสินใจล่าสุดของธนาคารกลางและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ผมคิดว่ามีสามเรื่องที่นักลงทุนควรตระหนัก
หนึ่ง การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นสําคัญ โดยธนาคารกลางแต่ละประเทศซึ่งเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเศรษฐกิจมากสุด จะพิจารณาสองเรื่องนี้ตามบริบทและสถานการณ์ประเทศตน ไม่จำเป็นต้องทําเหมือนกันหรือทําตามกัน
เราจึงเห็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศขณะนี้แตกต่างกันตามสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยหลักคือเงินเฟ้อ มีทั้งลดดอกเบี้ย กําลังจะลดดอกเบี้ย และขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สอง ประเทศที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อควรสามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เร็ว เพราะเงินเฟ้อจะคลี่คลายเร็วกว่าประเทศอื่น เช่น กรณีเม็กซิโก กรณีสวิตเซอร์แลนด์ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้เร็วเพราะอัตราเงินเฟ้อตํ่าและอยู่ในเป้ามานาน
และสวิตเซอร์แลนด์น่าจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะเริ่มปรับลงอัตราดอกเบี้ยปีนี้เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อดีขึ้น เช่น สวีเดน กลุ่มยูโรโซน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตามด้วย แคนาดา ออสเตรเลีย
ส่วนประเทศที่เงินเฟ้อยังเป็นปัญหา ยังเป็นขาขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ตรุกี ไต้หวัน การปรับลงจะใช้เวลา
สาม ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเศรษฐกิจโลกยังไม่หมดไป และความไม่แน่นอนก็มีมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่บางประเทศอาจลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรทําในแง่เงินเฟ้อเพราะเศรษฐกิจชะลอมาก คือยอมรับอัตราเงินเฟ้อในระดับที่สูงกว่าเป้า ซึ่งจะทําให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงทั้งเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง คือปัญหา Deflation
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล