ค่าเงินบาทวันนี้ 25 มี.ค. 67 ‘แข็งค่า‘ ตลาดรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐ
ค่าเงินบาทวันนี้ 25 มี.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 36.34 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดการเงินสหรัฐ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางการรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐ ดอลลาร์ย่อตัวหนุนทองรีบาวด์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.25-36.45 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.34 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.37 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.45 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.26-35.42 บาทต่อดอลลาร์) ตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ที่มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ก่อนที่จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามภาพตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางการรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์นี้
อนึ่ง จังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้น ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท และทำให้โดยรวมเงินบาทยังแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอบ้าง แต่ยังเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ (แนวต้านถัดไปคือ 36.65 บาทต่อดอลลาร์) หากตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และต้องจับตาแรงกดดันจากราคาทองคำ หากราคาทองคำยังคงปรับฐานต่อเนื่อง คล้ายกับช่วงต้นเดือนธันวาคมก่อนหน้า ที่ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับฐานหนัก หลังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากจุด All-time High ได้ รวมถึงจับตาทิศทางสกุลเงินเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ที่อาจผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หลังอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็อาจเดินหน้าขายสินทรัพย์จีนเพิ่มเติม
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจทรงตัวหรือชะลอการแข็งค่าบ้าง หากอัตราเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้สูงกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ แต่ต้องระวังความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ หากธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ลดดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาดแบบธนาคารกลางสวิตฯ ในสัปดาห์ก่อน
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังบรรดาธนาคารกลางหลักนอกจากเฟดเตรียมทยอยลดดอกเบี้ย ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังคงสดใส
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนกุมภาพันธ์ โดยผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคบริการที่ไม่รวมราคาหมวดที่อยู่อาศัย (Core Services ex. Housing) ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว เร่งตัวขึ้นไปมาก จนทำให้โดยรวมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE และอัตราเงินเฟ้อ PCE สูงกว่าคาดชัดเจน ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอช้ากว่าคาด หรือเสี่ยงเร่งตัวขึ้น จนอาจส่งผลให้ เฟดปรับลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้งที่ตลาดกำลังประเมินอยู่ ซึ่งหากผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ช้ากว่าคาด และน้อยกว่า 3 ครั้ง ก็จะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนอาจเห็นดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 105 จุด ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจปรับตัวขึ้นทดสอบระดับ 4.40%-4.50% อีกครั้ง ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งเรามองว่า โทนการสื่อสารของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ อาจมีลักษณะ Neutral ค่อนข้างไปทาง Dovish เมื่อประเมินจากถ้อยแถลงที่ผ่านๆ มา ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว ซึ่งหากการสื่อสารของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเป็นไปตามคาด ก็อาจช่วยคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง
▪ ฝั่งยุโรป – ในสัปดาห์ก่อนหน้า เรายอมรับว่า อาจมองข้ามการประชุมธนาคารกลางสวิตฯ (SNB) ไป เนื่องจากโดยปกติ ผลการประชุม SNB ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็มองว่า SNB จะยังไม่ลดดอกเบี้ย ทำให้เมื่อ SNB เซอรไพรส์ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ยลง -25bps ผู้เล่นในตลาดต่างก็ยิ่งมองว่า ธนาคารกลางหลักอื่นๆ อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ กดดันสกุลเงินฝั่งยุโรปและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแรง จากบทเรียนดังกล่าวทำให้ เรามองว่า ควรระวังผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็มองว่า Riksbank จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.00% แต่หากมีการเซอร์ไพรส์ลดดอกเบี้ย หรือส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมลดดอกเบี้ย ก็อาจกดดันเงินโครนสวีเดน (SEK) ซึ่งมีน้ำหนักราว 4.2% ในตะกร้าสกุลเงินคำนวณดัชนีเงินดอลลาร์ DXY อ่อนค่าลง และยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOE และ ECB
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่น อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในโซน Tokyo เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาสดใส อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้บ้าง ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Non-Manufacturing PMIs) เดือนมีนาคม ซึ่งหากออกมาสูงกว่าระดับ 50 จุด ตามที่นักวิเคราะห์ประเมิน ก็จะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น หลังการทยอยออกมามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ซึ่งอาจลดแรงกดดันต่อตลาดทุนจีนและเงินหยวนจีน (CNY)
▪ ฝั่งไทย – นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องราว +4.5%y/y ทว่ายอดการนำเข้าก็ยังคงขยายตัวได้ดีเกือบ +4%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) ของไทยอาจยังคงขาดดุลราว -540 ล้านดอลลาร์ (ขาดดุลการค้าลดลงจากเดือนก่อนหน้า)