“รู้ว่าเขาหลอก.... ”

เพลงนี้ เนื้อเพลงเริ่มต้นว่า “ถึงเขาหลอก….แต่เต็มใจให้หลอก”

วันจันทร์หน้า  1 เมษายน ฝรั่งเรียกว่า “April Fools’ Day” ใครอยากจะหลอกใครเล่นๆก็ได้นะ 
ไม่มีใครว่า แต่ทำได้เพียงวันเดียว และควรหลอกอย่างมีรสนิยม 

คือไม่ทำให้ผู้ถูกหลอกเสียหาย หรือเสียความรู้สึกอย่างร้ายแรง หรือลามปามไปถึงขั้นคอขาดบาดตาย เอาเพียงพอรู้ว่าถูกหลอก ก็ยังยิ้มได้ หัวเราะได้ และให้อภัยกันได้ ประมาณนั้น

ประเพณีอย่างนี้ องค์กรระดับโลกอย่าง Google, NASA, Volkswagen, 7-Eleven, ฯลฯ เขาก็เอามาใช้นะครับ และถือเป็นเรื่องสำคัญด้วย เพราะถ้าทำแล้วดูดี ก็ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์
ของแบรนด์ 

เช่น วันหนึ่ง Google ประกาศว่า ถ้าท่านอยาก “ดมกลิ่น” อะไรก็ได้ทั้งนั้น เพียงเข้าเว็บไซด์ Google Nose แล้วระบุว่าต้องการ ดมกลิ่นดอกกุหลาบ กลิ่นเสือ หรือกลิ่นรถยนต์ ฯลฯ มีกลิ่นให้เลือกนับล้านกลิ่น ก็คลิกเข้าไป แล้ว “ดม” ไปที่คีย์บอร์ด ก็จะได้กลิ่นนั้น 

ปรากฏว่า ผู้คนถูกหลอกให้ดมคีย์บอร์ดกันมากมาย ดมเท่าใดก็ไม่ได้กลิ่น ก็คีย์บอร์ดมันจะปล่อยกลิ่นได้อย่างไรเล่าครับ แต่เพราะเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 Google ทำได้ และเป็นมุกที่ขำ ผู้คนรับได้ หัวเราะได้

แต่ถ้าทำแล้วผิดพลาด ก็เสียหายต่อบริษัท เช่น Elon Musk ทวีตว่า “บริษัท Tesla กำลังจะล้มละลาย” มันเป็นวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน เขาหลอกเล่น แต่รุ่งขึ้นวันจันทร์ หุ้นของบริษัทร่วงจริง 5% เป็นต้น

วันที่ 1 เมษายน เป็นแค่วันหลอกกันเล่นๆ แต่สมัยนี้เราถูก “หลอกจริงๆ” ทุกวัน และวันละหลายเรื่อง ตื่นมาก็เจอทั้ง เฟคนิวส์ คอลเซ็นเตอร์ เฟซบุ๊ค ฯลฯ พวกนี้หลอกจริงจัง หลอกเพื่อเอาสตางค์ของเรา

โซเชี่ยลมีเดีย ทำให้ชีวิตเราต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้หนุ่มๆอย่างคุณและแก่ๆอย่างผม อยู่ๆก็ดูดีขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ เพราะมีสาวสวยหน้าตาดี หุ่นเซ็กซี่ เข้ามาขอเป็นเพื่อนในเฟสบุ๊ค หรือทักทายทางเมสเซนเจอร์ ทุกวัน

 

เห็นรูปร่างหน้าตาเธอแล้ว ใครก็อยากคุยด้วย แต่พอจินตนาการเห็นใบหน้ามิจฉาชีพแอบแฝง
อยู่เบื้องหลัง ก็ต้องหักห้ามใจแล้วลบเธอทิ้งไป

อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า สาวไทยวันนี้รูปร่างหน้าตาดีมากนะ จนมิจฉาชีพหารูปสาวสวย มาใช้ได้
ไม่ซ้ำกัน เธอจะรู้ตัวหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เธออาจจะเป็นมิจฉาชีพตัวจริง
เลยก็ได้

เราอยู่ในสังคม ที่มีคนหลอกลวงจำนวนมาก และมีทุกวงการ ไม่จำเป็นต้องใช้โซเชียลมีเดีย ก็หลอกกันได้ทุกช่องทาง ทุกวัน

บางคนหลอก ไม่ใช่เพื่อเอา “สตางค์” แต่หลอกเพื่อเอา “คะแนน” เช่นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ที่ให้สัญญาหลอกๆ
 ว่าจะทำนั่น จะทำนี่ พอเลือกเข้าไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำตามนั้น ประชาชนก็ได้แต่
ทำตาปริบๆ
 

การหลอกแบบนี้มีทุกยุคทุกสมัย และชาวบ้านก็ยังหลงเชื่อ เทคะแนนให้ทุกครั้ง แม้เมื่อรู้ว่า
ถูกหลอกแล้ว ก็ยัง “เต็มใจให้หลอก” ได้เหมือนเดิม 
แปลกดีนะ

ช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา มีอธิบดีจนถึงรัฐมนตรี ที่ออกมายืนยันว่าคนที่โรงพยาบาล “ป่วยจริง”  
แต่ประชาชนจำนวนมากกลับ ไม่เชื่อ และคิดว่าถูกหลอก ก็เห็นมีสื่อ พิธีกร และนักวิจารณ์ ออกมา
พูดกันหลายคน หลายเวที

ทำนองออกมาประกาศว่า รู้ว่าเขาหลอก แต่ (ไม่) เต็มใจให้หลอกบอกนะว่ารู้ทัน อะไรประมาณนั้น

เรื่องป่วยจริงหรือไม่จริง ยังไม่ทันจบ ก็ตามมาด้วยการกล่าวหากันไปมาว่า ใครทุจริต ระหว่าง ผบ.ตร. กับ รอง ผบ.ตร. จนถูกย้ายทั้งคู่ เรื่องนี้ก็ยังไม่จบ แต่คนจำนวนมาก กลับคิดว่าที่กล่าวหากันมันไม่ใช่ เรื่องหลอก น่าจะเป็นเรื่องจริง….เป็นงั้นไป

แต่พอประกาศว่าดีกันแล้ว ก็จะถอนฟ้องซะเฉยๆ ทำแบบนี้ได้ไง เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บอกว่า
มีหลักฐานการทุจริต มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นอักษรย่อ แต่พอกอดเอวกันแล้ว ก็บอกว่าจะถอนฟ้องทั้งหมด….งงไหมครับ

ท่านรู้ไหมว่า สมัยนี้ประชาชนเขาร้องเพลง  “ถึงเขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก” เฉพาะบนเวทีบันเทิงเท่านั้น แต่ในชีวิตจริง เขา “ไม่เต็มใจให้หลอก” อีกต่อไปแล้ว

แต่สังคมเราวันนี้ ชัดเจนว่าจะยังมีการหลอกกันต่อไป มีละครการเมืองแสดงให้ดูทุกวัน และเมื่อเรามาถึงยุคที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐพูด แล้วประชาชนไม่เชื่อ ก็แปลว่ามันมาถึงยุคเสื่อมศรัทธา และน่าห่วงอนาคตของประเทศอย่างยิ่ง

ประชาชน “ตาดำๆ” ทำอะไรไม่ค่อยได้ ยกเว้นองค์กรภาคประชาชน หรือ นักข่าว หรือนักร้องบางคน ที่พยายามร้องว่าไม่เต็มใจให้หลอก แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องและพอจะทำอะไรได้บ้าง ก็มักจะกลายเป็นพวก “ตาขาวๆ” กันหมด แล้วสังคมเราจะไปต่อได้อย่างไร

เพลงหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ฟังบ่อยๆในพิธีการต่างๆ และมักฟังกันอย่างซาบซึ้ง ก็คือเพลง
“ความฝันอันสูงสุด”
  ซึ่งมีเนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า “จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด” 

ไม่ทราบว่าเนื้อเพลงท่อนนี้ หายไปจากจิตวิญญาณของท่านหมดแล้ว หรืออย่างไร