ธปท.จ่อสุ่มตรวจ แบงก์-นอนแบงก์ ช่วยลูกหนี้เข้ามาตรการ ’แก้หนี้เรื้อรัง‘
“แบงก์ชาติ” ลุย “แก้หนี้เรื้อรัง” สั่งแบงก์ติดต่อลูกหนี้ เพื่อรับทราบเข้าหลักเกณฑ์เป็นหนี้เรื้อรัง ก่อน 30 เม.ย. นี้ สุ่ม “แบงก์-นอนแบงก์” ติดต่อหรือช่วยลูกหนี้จริงหรือไม่ “ทีทีบี” ชี้มีลูกหนี้เรื้อรังราว 1 หมื่นคน “กสิกรไทย” ชี้ช่วยลดปัญหาหนี้เรื้อรัง
“มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง” เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นมา มาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นช่องทางเลือกให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เรื้อรังได้เร็วขึ้น
โดยเฉพาะลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าชำระเงินต้นมาแล้วกว่า 5 ปี สำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียนที่ไม่มีกำหนดเวลาปิดจบหนี้ เช่น บัตรกดเงินสด และยังไม่เป็นหนี้เสียที่สามารถเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรังได้
กลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเร่งเข้าไปช่วยเหลือในเฟสแรก คือ กลุ่มที่เรียกว่าเป็น “ลูกหนี้เปราะบาง” ที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท กรณีที่เป็นลูกหนี้ผู้ให้บริการทางการเงิน แต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และเป็นหนี้ไม่เกิน 20,000 บาท หากเป็นลูกหนี้สถาบันการเงิน
สั่ง‘แบงก์’ติดต่อลูกหนี้ก่อน 30 เม.ย.
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้กำชับผู้บริหารสถาบันการเงิน (แบงก์) ทุกแห่ง ช่วงระหว่างเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ก่อนที่หลักเกณฑ์หนี้เรื้อรัง (Persistent debt : PD) บังคับใช้ 1 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยให้สถาบันการเงินทุกแห่ง ดำเนินการประเมินความพร้อมและวางแผนปิด gap ของตนเองผ่านแบบประเมิน (Self-Assessment Questionnaire) ตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลบัญชีหนี้เรื้อรัง พร้อมตรวจสอบกระบวนการและคุณภาพการติดต่อลูกหนี้ในการเสนอให้ความช่วยเหลือลูกค้า โดยจะสุ่มตรวจสอบจากข้อมูลที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งติดต่อ (contact) กับลูกหนี้
รวมถึงตรวจสอบแบบไม่แสดงตัวตน (mystery shopping) กับ Call Center ของผู้ให้บริการทุกแห่งเพื่อเป็นการเช็คสอบวิธีการ แนวทางให้ข้อมูล และนำเสนอมาตรการช่วยเหลือที่ครบถ้วน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ PD ที่กำหนดไว้ และสั่งการให้แก้ไขหากพบการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องโดยทันที
ทั้งนี้ จากการส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้ลูกหนี้รับทราบว่าเป็นหนี้เรื้อรังนั้น งวดแรกต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย. 2567 ซึ่งปัจจุบันนี้ พบว่ามีสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการบางแห่งได้ทยอยจัดส่งข้อมูลให้ลูกหนี้แล้ว และจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาข้างต้นด้วย
‘ทีทีบี’ มีลูกหนี้เรื้อรัง 1 หมื่นคน
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) กล่าวว่า ในส่วนโครงการลูกหนี้เรื้อรังนั้น ธนาคาร TTB มีแผนสื่อสารผ่านช่องทางเอสเอ็มเอสกับลูกค้าที่เข้าข่ายโครงการหนี้เรื้อรังให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย. 2567 นี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคาร TTB มีสัดส่วนลูกค้าที่เป็นหนี้เรื้อรังประมาณ 10,000 คน ของลูกค้าบัตรกดเงินสดทั้งหมด ดังนั้น คาดว่าผลกระทบที่มีต่อธนาคารไม่น่าจะมากนัก เนื่องจากสัดส่วนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่สูงมาก
“ที่ผ่านมาทีทีบีมีแผนการสื่อสารผ่านช่องทางเอสเอ็มเอสกับลูกค้าที่เข้าเกณฑ์โครงการแก้หนี้เรื้อรังให้แล้วเสร็จภายใน 30 เม.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันทีทีบีมีสัดส่วนลูกค้าที่เป็นหนี้เรื้อรังประมาณ 10,000 ราย ซึ่งเป็นลูกค้ากดเงินสดทั้งหมด”
‘กสิกรไทย’ ชี้ช่วยลดปัญหาหนี้เรื้อรัง
นายจงรัก รัตนเพียร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรังสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของธนาคาร ปัจจุบันธนาคารได้สื่อสารการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร เช่น อินสตาแกรม, เอ็กซ์ (X), ไลน์ วูม ตั้งแต่มีนาคม 2567
นอกจากนี้ ธนาคารจะแจ้งผ่านช่องทางแจ้งเตือนของธนาคาร เช่น K PLUS , เอสเอ็มเอส จดหมาย และอีเมล โดยจะเริ่มแจ้งตั้งแต่ปลายเม.ย. 2567 ตามเกณฑ์ของ ธปท. โดยกสิกรไทยมองว่า มาตรการดังกล่าวช่วยลดปัญหาหนี้เรื้อรัง ด้วยการสร้างวินัยทางการเงิน เพิ่มความสามารถผ่อนชำระรายเดือน ลดภาระดอกเบี้ย และช่วยให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ มาตรการแก้หนี้เรื้อรังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. ที่ครอบคลุมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เหมาะสมกับความเสี่ยงและความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ให้บริการทางการเงินอย่างเหมาะสมควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินที่ดีบนรากฐานของ Responsible Lending มาอย่างต่อเนื่อง
ลูกหนี้เข้าข่ายเรื้อรัง 7% ของพอร์ต
นายอธิป ศิลป์พจีการ ประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล สมาคมธนาคารไทย (TBA) และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด เผยว่า หลังจากแบงก์ชาติออกมาตรการโครงการแก้หนี้เรื้อรัง โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังนั้น แม้จะมีเพียงแค่ 7% แต่บริษัทก็ได้มีการเฝ้าระวังในการบริหารลูกค้ากลุ่มดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้จัดโปรแกรมสำหรับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ให้ผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 15% ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร่วมแล้วประมาณ 10%
“จากมาตรการแก้หนี้เรื้อรังของแบงก์ชาติ ปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังนั้น เพียงแค่ 7% ซึ่งบริษัทก็ไม่ได้นิ่งก็มีการเฝ้าระวังในการบริหารลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ต่อเนื่อง”
‘เมืองไทย แคปปิตอล’ ไม่พบลูกหนี้เข้าข่าย
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า หากเทียบกับลักษณะลูกหนี้ของบริษัทอาจจะไม่เข้าเงื่อนไข ตามนิยามมาตรการแก้หนี้เรื้อรังตามหลักเกณฑ์แบงก์ชาติ เนื่องจากบริษัทมีกำหนดเวลาปิดจบหนี้ของลูกค้า (วันสิ้นสุดสัญญา) ไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หากมองกรอบใหญ่ของ Responsible lending หรือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมนั้น ที่ต้องให้ผู้ประกอบการเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าก่อนกลายเป็นหนี้เสีย 1 ครั้ง และหลังการเป็นหนี้เสีย 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในการให้ความช่วยเหลือต้องขึ้นกับลูกค้าด้วย และส่วนของบริษัทพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว อาทิเป็นการลดวงเงินผ่อนชำระต่อเดือน ขยายเวลาผ่อนชำระ เช่น จากเดิมลูกค้าจ่ายค่างวดต่อเดือนที่ 1,000 บาท แล้วสัญญาต้องผ่อน 12 งวด ก็ปรับลดค่างวดเหลือเดือนละ 800 และการขยายเวลาผ่อนออกเป็น 15 งวด
“แม้ลูกค้าเราอาจไม่เข้าหลักเกณฑ์แบงก์ชาติในมาตรการหนี้เรื้อรัง เนื่องจากเรามีกำหนดระยะเวลาการปิดจบหนี้ของลูกค้าไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ MTC พร้อมให้การช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลดวงเงินผ่อนชำระต่อเดือน หรือการขยายระยะเวลาผ่อนชำระ”