ค่าเงินบาทวันนี้ 11 เม.ย.67 ‘อ่อนค่าเร็วและแรง‘ หลังCPIสหรัฐดีกว่าคาด
ค่าเงินบาทวันนี้ 11 เม.ย.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ที่ 36.76 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังตัวเลขCPIสหรัฐออกมาดีกว่าคาดหนุนดอลลาร์ แข็งค่า- บอนด์ยีลด์เด้ง ราคาทองลง ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด มีความเสี่ยงราคาน้ำมัน มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.65-37.00 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-37.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง “เร็วและแรง” จนแตะโซนแนวต้าน 36.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อน (แกว่งตัวในช่วง 36.34-36.76 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ (โอกาสลด 2 ครั้ง อยู่ที่ราว 67%) ขณะเดียวกันบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็พุ่งสูงขึ้นทะลุระดับ 4.50% ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดดังกล่าว ส่งผลให้ ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงหนัก
นอกจากนี้ เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม หลังราคาน้ำมันดิบพลิกกลับมาพุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความร้อนแรงมากขึ้น หากอิหร่านและพันธมิตรเปิดฉากโจมตีอิสราเอลจริง ตามคำเตือนของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 37 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้สำหรับสัปดาห์นี้ได้ไม่ยาก ทว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านอยู่ในช่วง 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวต้านในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ หากราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความกังวลความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบได้บ้าง (คล้ายกับในช่วงแรกของการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสในปีก่อนหน้า) นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายบอนด์ไทยเพิ่มเติม ตามแนวโน้มธนาคารแห่งประเทศไทยและเฟดที่อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนฟันด์โฟลว์ฝั่งหุ้นก็มีแนวโน้มผันผวนสูง และยังมีความไม่แน่นอนว่า นักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง หรือไม่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังเผชิญแรงกดดันอยู่ ส่วนเงินบาทก็เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าต่อได้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนจากค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าเข้าใกล้ 153 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้เรามองว่า มีความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงินได้ โดยการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนรอบก่อนหน้าของทางการญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้เงินเยนพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง จนทำให้ตลาดค่าเงินอาจผันผวนสูงในระยะสั้น
อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายหนัก กระจายตัวไปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.95%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.15% แม้ว่าจะเผชิญแรงขายจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่าตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ อาทิ Shell +1.4% ส่วนหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง ASML +1.6% ก็ได้รับอานิสงส์จากรายงานผลประกอบการของผู้ผลิตชิพฯ รายใหญ่ของโลกอย่าง TSMC ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเร็วและแรง ทะลุระดับ 4.50% ตามความเสี่ยงที่เราประเมินไว้ว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นทดสอบโซน 4.40%-4.50% ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้เราอาจพิจารณาเลื่อนไทมไลน์การปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดไปเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ราว 3 ครั้ง ทำให้ เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ และ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น (Asymmetric Risk-Reward หากลองประเมิน ผลตอบแทนในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ ปรับตัวขึ้น หรือ ลง 50bps หรือแม้กระทั่ง 100bps) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมาก เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 153 เยนต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้งในปีนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ดูจะไม่ชะลอลงอย่างที่คาดหวัง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพุ่งขึ้นเร็วและแรงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงกว่า -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งจังหวะซื้อทองคำตอนย่อ และขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด จะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ว่าจะสามารถเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจเร็วกว่าคาดการณ์จังหวะการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด ได้หรือไม่
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม และรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม เช่นกัน
และในฝั่งสหรัฐฯ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด คือ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงนี้ส่วนใหญ่ออกมาแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ดูจะชะลอลงช้ากว่าคาด