กนง.ย้ำจุดยืน ‘การดำเนินนโยบายการเงิน’ ปัจจุบันไม่ได้ฉุดรั้ง เศรษฐกิจไทย
กนง.เสียงแตกผลประชุมคณะกรรมการมีมติ 5 เสียง ต่อ 2 คงดอกเบี้ยที่ 2.50% ชี้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ย้ำจุดยืน กนง. ต้องการหนุนเศรษฐกิจไทยไปสู่ระดับศักยภาพ ไม่ได้ต้องการเป็นตัวฉุดต่อการฟื้นตัว
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2567 คณะกรรมการ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
ทั้งนี้ กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน จากหลายแรงส่งทำให้กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วงปลายปี 2567
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนกรรมการที่เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลงมองว่า เพื่อให้สอดคล้องศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นและบรรเทาภาระของลูกหนี้
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.กล่าวว่า จุดยืนการดำเนินนโยบายของ กนง.เอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวแบบมีศักยภาพระยะยาว ไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ขัดกับการขยายตัวหรือขัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไปสู่ระดับศักยภาพ
“จุดยืนของ กนง.คือ เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไปสู่ระดับศักยภาพระยะยาว ไม่ได้มีจุดยืนที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย”
ส่วนกรณีที่คาดการณ์ว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ จุดเปลี่ยนจะมาจากด้านใดที่จะนำไปสู่การดำเนินนโยบายระยะข้างหน้า กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยเป็นข้อต่อสำคัญที่จะดูว่าระยะข้างหน้าจะกำหนดนโยบายการเงินอย่างไร
โดย กนง.มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นทั้งเศรษฐกิจ 2 เดือนแรก และภาพแนวโน้มไตรมาส 1 ที่จะเติบโตมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2566 รวมถึงติดตามภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2 ว่าภาคการคลังเริ่มเบิกจ่ายมากขึ้นจะเร่งกลับมาได้หรือไม่ ที่จะเป็นแรงส่งสำคัญว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเหมือนที่คาดหรือไม่ รวมถึงภาคการส่งออกต้องติดตามว่าจะเป็นไปตามคาดหรือไม่
ดังนั้นการตัดสินใจของ กนง.ในระยะถัดไปที่จะพิจารณามีทั้งปัจจัยที่ไม่แน่นอน และปัจจัยที่เกี่ยวกับมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายการเงินระยะข้างหน้า
“ธปท.มองว่ามีความเสี่ยงทั้งด้านสูงและด้านต่ำ การท่องเที่ยวมีเทรนด์ค่อนข้างดี จากการเบิกจ่ายอาจมีเม็ดเงินแต่อาจไม่สามารถเบิกจ่ายเต็มที และภาคส่งออกบางหมวดหมู่อาจฟื้นตัว ดังนั้น กนง.ค่อนข้างบาลานซ์ทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยลบ”
ดำเนินนโยบายการเงินต้องมองไประยะยาว
อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.อาจต้องมองมากกว่าปีนี้และอาจมองถึงปีหน้า โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่จะมีความไม่แน่นอนขึ้นจากประเทศเศรษฐกิจหลักที่อาจกระทบการเงินของประเทศ
นอกจากนี้ กระบวนการการลดหนี้ครัวเรือนหรือการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีต้องติดตามว่า ภาวะการเงินยังสอดคล้องเศรษฐกิจที่ต้องการหรือไม่ เหล่านี้คือองค์ประกอบที่ต้องติดตาม เพื่อให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมว่าจะเป็นอย่างไร
ชี้ลดดอกเบี้ยยิ่งเร่งก่อหนี้ฉุดเศรษฐกิจระยะยาว
รวมทั้งสิ่งที่ กนง.ประเมินว่า หากลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบพลวัตการก่อหนี้อย่างไร รวมถึงหนี้ครัวเรือนระยะข้างหน้า โดยถ้า กนง.ลดดอกเบี้ยจะทำให้หนี้ขยายตัวขึ้น ซึ่งมูลหนี้ยอดคงค้างหนี้สูงขึ้นจะสร้างภาระหนี้ที่ต้องมาชดใช้ดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า สุดท้าย จะกัดกินอำนาจซื้อที่จะฉุดรั้งจีดีพีให้ลดลงในระยะปานกลางได้ ดังนั้นจึงช่างน้ำหนักระหว่างระยะสั้นและระยะปานกลาง
“การปรับอัตราดอกเบี้ยกระทบทั้งหมด เอสเอ็มอีได้ผลบวกระดับหนึ่ง แต่รายใหญ่ได้ลดภาระเยอะกว่า ในแง่เม็ดเงิน ดังนั้นเหล่านี้เป็นการช่างน้ำหนัก แต่ผลโดยรวมไม่ได้เยอะมาก”
รับเอสเอ็มอีภาวะการเงินตึงตัวเข้าถึงสินเชื่อยาก
สำหรับภาวะการเงิน โดยดูจากสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสู่ระบบ แม้จะติดลบเล็กน้อย แต่มาจากฐานที่สูง จากปีก่อนจากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนหน้า และหากแยกขนาดสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับสินเชื่อที่เป็นบวกอยู่โดยขยายตัวที่ 1.2% ขณะที่เอสเอ็มอี หดตัวที่ 5% เหล่านี้เป็นความแตกต่างที่เป็นมาต่อเนื่อง ที่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และสะท้อนถึงการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ เทียบกับขนาดเล็ก
ส่วนปัจจุบัน ภาพการเงินตึงตัวไปหรือไม่ กนง.มองว่า ภาวะการเงินในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยหากดูในภาคการผลิต พบว่า การเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น จากการเข้มงวดการเข้าถึงสินเชื่อ ที่พบว่า มีความตึงตัวขึ้น ในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็ก แต่การเข้มงวดของสินเชื่อเหล่านี้ ก็สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยในธุรกิจขนาดเล็กที่มีสูงขึ้น
ส่วนภาคครัวเรือน ยังเห็นการขยายตัวระดับ 3% ในภาพรวม โดยภาพรวมสินเชื่อในกลุ่มรายได้สูงและรายได้ปานกลาง มีการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และพบว่ากลุ่มรายได้น้อย ภาวการณ์เงินตึงตัวมากขึ้น
โดยสินเชื่อครัวเรือน ถือเป็นสิ่งที่ กนง.ติดตามต่อเนื่อง
โดยเฉพาะภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ที่อยู่ระดับกว่า 90% ดังนั้นกระบวนการสะสางหนี้ ลดหนี้ต่อจีดีพี (Debt deleveraging) ก็ควรมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ดังนั้น กนง.มองว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาหนี้ แต่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ปัญหาไม่แย่ลงในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องอาศัยมาตรการเฉพาะในการปรับโครงสร้างหนี้และต้องให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มศักยภาพ
นายกเรียกร้องลดดอกเบี้ยมีเหตุผลที่ดี
ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย มองว่า เป็นมุมมองที่มีเหตุผล เช่นเดียวกับ กนง.ที่ให้ลดดอกเบี้ยลง แต่สุดท้ายต้องขึ้นกับการชั่งน้ำหนักแต่ละคน และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะมีทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงธุรกิจรายเล็กและรายใหญ่ และปัจจัยจากต่างประเทศ ในประเทศ
“กนง.มองภาพเศรษฐกิจคล้ายกัน สิ่งที่ต่างของกรรมการ 2 คน คือ มองว่าการใช้เครื่องมือที่จะบรรเทาภาระหนี้ได้ระดับหนึ่ง เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจอาจต่ำกว่าที่เคยเป็นก็เป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยที่ต่ำลงเหมาะสมกว่า นี่เป็นการชั่งน้ำหนักที่ไม่มีใครผิดถูก 100%”
สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐมีมากขึ้นจะมีผลต่อการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง.อย่างไร นายปิติ ยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักย่อมมีผลสำคัญต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลก
ส.อ.ท.ห่วงต้นทุนกาเงินเอสเอ็มอี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวยังคงมีความเห็นต่อกนง.เหมือนเดิมคือยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ โดยกนง.จะมีการพิจารณาเรื่องของดอกเบี้ย2 กรณี คือ การประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระให้เอสเอ็มอี หรือไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อรอให้เฟดประกาศลดดอกเบี้ยก่อนส่วนตัวคาดว่า กนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยลง เพราะหากลดอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นอีกได้
อย่างไรก็ตามจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เคยประกาศไว้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลง 3 ครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐแข็งแกร่งมาก จึงคิดว่าเฟดยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังจะลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาถึง 2.50% ส่งผลต่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะต้นทุนที่สูงขึ้น
ดังนั้น หากจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ ก็จะเป็นการบรรเทาโดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนทางการเงินของกลุ่มเอสเอ็มอีลงได้ ซึ่งดอกเบี้ยในระบบและดอกเบี้ยนอกระบบมีความผูกพันกัน หากดอกเบี้ยในระบบลดลง ดอกเบี้ยนอกระบบก็จะลดลงเช่นกัน
หอการค้าแนะรัฐจัดซอฟต์โลน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการและประชาชนยังอยากให้มีการลดดอกเบี้ยในภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และต้นทุนอยู่ระดับสูง แม้การลดดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนหรือภาระของผู้ประกอบการและประชาชนลดลง แต่ช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำและกำลังซื้อในประเทศซบเซา
ดังนั้น หากรัฐบาลจะมีนโยบายทางการคลังเพิ่มเติม ผ่านมาตรการต่างๆ เฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เช่น Soft Loan ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบ คงจะมีส่วนช่วยประคองความสามารถของ SMEs ให้เดินหน้าต่อไปได้ แล้วหวังว่า กนง. จะได้ พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งถัดไปต่อไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยจะเป็นการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยตอนนี้เหมาะสมที่ทำเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ 2.7% และสอดคล้องทิศทางการปรับตัวของดอกเบี้ยของธนาคารกลางโลก
ขณะเดียวกันเงินเฟ้อสหรัฐจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.4%ในเดือน เม.ย.หรือไม่ อาจทำให้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยน้อยลงซึ่งสัญญาณเหล่านี้เป็นความไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางดอกเบี้ยทำให้ ธปท.อาจไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นในช่วงปลายไตรมาส 2 จนถึงสิ้นปี จากผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตและอสังหาริมทรัพย์