‘บิ๊กเอกชน’ลุยระดมทุนหุ้นกู้ ThaiBMA ชี้ไตรมาส 2 ยื่นขอไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท
3 เดือนแรกปี 2567 ผ่านพ้นไปแล้ว บรรยากาศ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” ยังไม่สดใส ซึ่งส่งผลให้การลงทุนใน “ตลาดหุ้นกู้” ไม่สู้ดีนัก !! ด้วยปัจจัยลบในตลาดหุ้นกู้เองที่มีความกังวล “ความเสี่ยงหุ้นกู้ผิดชำระคืนหนี้-ขอขยายเวลา” ซึ่งแนวโน้มจะมีบริษัทผิดนัดชำระคืนเพิ่มขึ้นอีก
ทว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ออกหุ้นกู้ “รู้ตัวก่อน” ว่าจะมีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ จึงเริ่มเห็นหลายรายพยายามเจรจากับเจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้นกู้ “ขอปรับโครงสร้างหนี้” เลื่อนเวลาชำระคืนหนี้ออกไปก่อน พร้อมแลกกับจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าวิธีการดังกล่าว “WIN-WIN” กันทั้งสองฝ่าย หากผู้ออกหุ้นกู้มีความ “จริงใจ” ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหุ้นกู้เป็นปัญหาที่สะสมตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขอีกระยะหนึ่ง
ประกอบกับในภาวะที่ “อัตราดอกเบี้ย” เข้าสู่ “จุดสูงสุด” และ“ทรงตัวระดับสูง” ยิ่งทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้สูงขึ้น ส่งผลต่อความต้องการ “ออกหุ้นกู้ใหม่ชะลอตัวลง” ประเดิมในไตรมาส 1 ปี 2567 มูลค่ายอดออกหุ้นกู้รวม 207,126 ล้านบาท ลดลงถึง 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยเฉพาะ “บริษัทขนาดใหญ่ อันดับเครดิต A ขึ้นไป” ลดลงมากสุด เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีทางเลือกระดมทุนช่องทางอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่า เช่น ขอวงเงินสินเชื่อแบงก์ หรือบริษัทที่ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอชะลอการออกหุ้นกู้ไปก่อน
ดังนั้น สัญญาณตลาดหุ้นกู้ไตรมาส 2 ปี 2567 ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่เหลือของปีนี้ทิศทาง “ฟื้น” หรือ “ทรุด” อย่างไร “สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ฉายภาพให้เห็นว่า
ตลาดหุ้นกู้ไตรมาส 2 ปี 2567 แนวโน้มจะกลับมา “คึกคัก” มายิ่งขึ้น สะท้อนจากสัญญาณบรรยากาศต่างๆ ในตลาดหุ้นกู้เริ่มกลับมาดีขึ้น
บ่งชี้จากช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นบริษัทต่างๆ เตรียม “ออกขายหุ้นกู้ชุดใหม่” ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 กันคึกคักไม่น้อยกว่า 10 บริษัท รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยหมดช่วง “ขาขึ้น” แล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวลง ดังนั้น ปัจจัยบวกดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนคืนกลับมาได้ !
สอดรับทั้งปี 2567 จะมียอดออกหุ้นกู้ระดับ 9 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่เชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้ ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้ (ไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 4 ปี 2567) มีมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดไถ่ถอนราว 696,411 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมหุ้นกู้ที่มีปัญหามูลค่า 12,091 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 มูลค่า 249,207.93 ล้านบาท โฉยเฉพาะเดือนเม.ย. อยู่ที่ราว 110,959.40 ล้านบาท
ส่วนใหญ่แบ่งเป็นหุ้นกู้ Investment Grade สัดส่วน 90% และหุ้นกู้ High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงไปถึงไม่มีเรตติ้ง ในสัดส่วน 10% ของหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดในระยะเวลาดังกล่าว
สำหรับ ผู้ออกหุ้นกู้ “10 อันดับแรก” ที่มียอดครบกำหนดไตรมาส 2 ปี 2567 ประกอบด้วย
1.บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครดิตเรตติ้ง A มูลค่า 25,000.00 ล้านบาท
2.บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (TBEV) กลุ่มธุรกิจอาหาร เครดิตเรตติ้ง AA มูลค่า 15,000.00 ล้านบาท
3.บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กลุ่มธุรกิจอาหาร เครดิตเรตติ้ง A+ มูลค่า 14,632.60 ล้านบาท
4. บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) กลุ่มธุรกิจบริการ/พาณิชย์ เครดิตเรตติ้ง A มูลค่า 12,256.60 ล้านบาท
5. บ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม (LOTUSS) กลุ่มธุรกิจบริการ/พาณิชย์ เครดิตเรตติ้ง A+ มูลค่า 9,848.00 ล้านบาท
6. บ.ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUS) กลุ่มธุรกิจไอซีที เครดิตเรตติ้ง A+ มูลค่า 8,478.60 ล้านบาท
7. บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) กลุ่มธุรกิจธนาคาร เครดิตเรตติ้ง AA+ มูลค่า 7,800.00 ล้านบาท
8. บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) อสังหาริมทรัพย์ A+ มูลค่า 7,000 ล้านบาท
9. บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์ เครดิตเรตติ้ง A- มูลค่า 6,800.00 ล้านบาท
10. บมจ.แอสเซทไวส์ (AWN) กลุ่มธุรกิจไอซีที เครดิตเรตติ้ง AAA มูลค่า 6,637.60 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ออกที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนเดือนเม.ย.2567 คือ 1.บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC)
2. บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
3.บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)
4.บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP)
5.บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC)
6.บ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม (LOTUSS)
7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB)
8.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BMTA)
9.บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)
10.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)
11.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
ขณะเดียวกันแนวโน้มยอดออกหุ้นกู้อันดับเครดิตเรตติ้ง BBB ทางสมาคมฯ คาดว่า น่าจะยังมีการออกเพิ่มเติมได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และมีฐานะการเงินมั่นคงยังคงขายได้เต็มจำนวน ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ในกลุ่มไฟแนนซ์
“อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA มองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากทิศทางดอกเบี้ยเริ่มทยอยปรับลดลงแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าผู้ออกหุ้นกู้จะกลับมาเลือกช่องทางการระดมเงินทุนผ่านตลาดหุ้นกู้เพิ่มเติมมากขึ้น และในเดือนเม.ย.นี้ แม้จะมียอดหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากถึง 1.1 แสนล้านบาท แต่ไม่น่ากังวลมปัญหาที่บริษัทเหล่านี้จะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อ “โรลโอเวอร์” (Rollover) หุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ เครดิตเรตติ้งระดับลงทุน Investment Grade (A ขึ้นไป) น่าจะกลับมาออกเพิ่มมากขึ้น
จากรายงานภาวะตลาตราสารหนี้ไทย ระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย.2567 พบว่า หุ้นกู้ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) รุ่น ASK253A (A(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,643 ล้านบาท 2. หุ้นกู้ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH24OA (A+) มูลค่าการซื้อขาย 1,242 ล้านบาท และ3.หุ้นกู้ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) รุ่น SPALI262A (Non-Rated) มูลค่าการซื้อขาย 870 ล้านบาท
สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นกู้ “เริ่มคลี่คลาย” มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานกำกับดูแล มีกลไกกำกับดูแลเพิ่มมาตรการกำกับดูแลในตลาดหุ้นกู้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวและเพิ่มคุณภาพผู้ออกหุ้นกู้มากขึ้น รวมถึงผู้ออกหุ้นกู้เริ่มมีการบริหารความเสี่ยงต้นทุนและสภาพคล่องเหมาะกับภาวะตลาดแต่ละช่วงเวลาได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม “การเปิดเผยข้อมูลและงบการเงินบริษัทที่ออกหุ้นกู้มากขึ้น” จะทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลการตัดสินใจลงทุนที่ดียิ่งขึ้น หลังจากบทเรียนในตลาดหุ้นกู้ช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่า “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างดีและในส่วนของ “ผู้ถือหุ้นกู้” ได้เริ่มมีการเรียนรู้และสามารถแยกแยะปัญหามากขึ้น “ไม่เหมารวม” พร้อมกับคำนึงถึงจำกัดความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนได้ดี
ดังนั้น “ปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระ” ปัจจุบันยังคงมีอยู่ประมาณ 16,363 ล้านบาท มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด สมาคมฯ คาดว่าหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ยังยืนยันว่า ความเสี่ยงปัญหาดังกล่าว “ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก” กับโครงสร้างของตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งระบบ