'ทุเรียน' ราชาผลไม้ไทย ปลูกขายเสียภาษีเท่าไหร่กันแน่?

'ทุเรียน' ราชาผลไม้ไทย ปลูกขายเสียภาษีเท่าไหร่กันแน่?

เกษตรกรปลูกทุเรียน ทำความเข้าใจเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกันว่า ลักษณะไหนได้ยกเว้นภาษี หรือภาษี 0% แบบไหนต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

เมื่อ "ทุเรียน" คือราชาของผลไม้ไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนไทยเองหรือชาติอื่นๆ ต่างก็ชื่นชอบรสชาติของทุเรียนไทยด้วยกันทั้งสิ้น และด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นเกษตรกรปลูกทุเรียนกันทั่วทุกภาค มีทั้งที่ปลูกมานานตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วงการเกษตรกรทุเรียนก็มีให้เห็นอยู่ตลอด

​ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเกษตรกรปลูกทุเรียนกับภาษีที่เกี่ยวข้องกันว่า ลักษณะไหนได้ยกเว้นภาษี หรือภาษี 0% แบบไหนต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ได้จากบรรทัดต่อจากนี้

ภาษีที่ดินสำหรับใช้ปลูกทุเรียน

ตามหลักการของผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ก็ตาม ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมถึงนิติบุคคล และมีชื่ออยู่ในทะเบียนเอกสารสิทธิ หรือปรากฏเข้าครอบครอง เช่น เกษตรกรที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีที่ดิน
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับการนำที่ดินไปใช้เพื่อการเกษตรหรือปลูกทุเรียน สามารถแบ่งได้ดังนี้

1.ที่ดินสำหรับบุคคลธรรมดาที่ทำการเกษตรปลูกทุเรียน

- มูลค่าที่ดิน 0 - 75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน 75 - 100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน 100 - 500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน 500 - 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
- มูลค่าที่ดิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

2.ที่ดินสำหรับนิติบุคคลที่ทำการเกษตรปลูกทุเรียน

- มูลค่าที่ดิน 0-75 ล้านบาท = 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน มากกว่า 75-100 ล้านบาท = 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน มากกว่า 100-500 ล้านบาท = 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดินมากกว่า 500-1,000 ล้านบาท = 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
- มูลค่าที่ดิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป = 0.10% หรือล้านละ 1,000 บาท

หลักการจัดการภาษีที่เกี่ยวข้อง เมื่อปลูกทุเรียนจำหน่าย

หลักการสำคัญของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนเป็นอาชีพ ทั้งที่ทำในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะมีการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเหมือนและต่างกันในรายละเอียดต่อไปนี้ ​

1.เกษตรกรที่จะปลูกทุเรียนเพื่อการจำหน่าย จะต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบกิจการ

2.เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถึงแม้ว่าพื้นฐานสำหรับผู้ที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปในประเทศจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็สามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนได้ ทั้งเกษตรกรที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หรือกรณีที่มีการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้รับการแปรรูป ก็มีความจำเป็นต้องจด VAT

3.เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อใช้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การหักภาษี ณ ที่จ่าย

4.เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในนามบุคคลธรรมดา จะต้องนำข้อมูลรายรับรายจ่ายตลอดทั้งปี ไปใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่ามองข้ามภาษี 2 ประเภท ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนควรทราบ

​อย่างที่กล่าวไปบ้างแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน โดยมี 2 ภาษีที่เกี่ยวข้องที่เกษตรกรไม่ควรมองข้าม ซึ่งสามารถอธิบายโดยละเอียดได้ดังนี้

1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดย่อม ที่มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่สามารถขอจด VAT ได้ ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจเกษตรเพื่อการส่งออกทุเรียนที่เลือกจด VAT ก็จะได้ VAT 0% และสามารถนำต้นทุนบางอย่างมาเครดิตภาษีขายได้ หรือขอภาษีซื้อคืนได้เช่นกัน​

2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีผู้ปลูกทุเรียนได้ขอจดเป็นนิติบุคคล มีการว่าจ้างแรงงาน มีการจ่ายเงินเดือน สวัสดิการ ค่าจ้าง ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งเมื่อจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

เกษตรกรสวนทุเรียนยื่นภาษีช่วงไหนบ้าง

ตามหลักกฎหมายเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ทั้งที่ทำในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อมีรายได้จะต้องยื่นภาษี 2 ครั้ง/ปี ตามช่วงเวลาดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) จะต้องนำรายได้มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ครั้งต่อปี ดังนี้

- ภาษีครึ่งปี เป็นการนำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ของปีนั้น ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีที่ได้รับเงิน

- ภาษีสิ้นปี เป็นการนำรายได้ตลอดทั้งปีก่อนหักรายจ่ายใดๆ มาคำนวณภาษี ยื่นแบบแบบ ภ.ง.ด.90 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน ของทุกปี โดยหักด้วยภาษีที่ได้ชำระไว้แล้วเมื่อตอนยื่นแบบครึ่งปี

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำรายได้จากปลูกทุเรียนจำหน่ายตลอดทั้งปี มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี 2 ครั้งเช่นกัน ดังนี้

- ภาษีครึ่งปี ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

- ภาษีสิ้นปี ให้ยื่น ภ.ง.ด.50 และชำระภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
 
สรุป

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล (กรณีจดบริษัทเป็นนิติบุคคล) ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย (กรณีจดบริษัทเป็นนิติบุคคล) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากขายสินค้าเกษตรไม่แปรรูปได้ยกเว้น VAT แต่สามารถขอจด VAT ได้ รวมถึงหากขายสินค้าเกษตรแปรรูปต้องจด VAT และหากส่งออกสินค้าเกษตร VAT 0%
 
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting