‘ธนาคารเงา’ เกาหลีใต้ ส่อล้ม เหตุยอด ‘อสังหาฯ พาณิชย์’ ดีฟอลต์ พุ่ง
‘ธนาคารเงา’ เกาหลีใต้ ส่อล้ม หลังปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อื้อ ท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ประสบปัญหาสภาพคล่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (23 เม.ย.) ว่า "ธนาคารเงา"ของเกาหลีใต้เริ่มกลายเป็นจุดสนใจของบรรดานักลงทุนทั่วโลก ท่ามกลางมูลค่าธนาคารเงาทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 63 ล้านล้านดอลลาร์
โดยสภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก จนกระทั่งสถาบันการเงินอย่างกลุ่มบริษัทที โรว์ ไพรซ์ (T. Rowe Price) และโนมูระ โฮลดิ้งส์ (Nomura Holdings) ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหา “หนี้สินด้อยคุณภาพ” ในภาคอสังหาริมทรัพย์
ยอดผิดนัดชำระหนี้เกาหลีใต้พุ่ง
สถาบันตลาดทุนเกาหลี (KCMI) พบว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มสถาบันสินเชื่อหลักของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 6.55% ในปีที่แล้ว ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารซิตี้กรุ๊ป (Citi Group) ประเมินว่า หนี้จากสินเชื่อโครงการ (Project-finance Debt) มูลค่า 111 ล้านล้านวอน (ประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์) อยู่ในสภาวะ “มีปัญหา” โดยยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารเงาให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 926 ล้านล้านวอนในปีที่แล้วซึ่งมากกว่าทศวรรษที่แล้วกว่าสี่เท่า
ผู้กำหนดนโยบายพยายามสกัดกั้นความเสี่ยงแบบลูกโซ่ด้วยการเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อบางประเภท ทว่าประกาศปรับโครงสร้างองค์กรแบบฟ้าผ่าปลายปีที่แล้วของ บริษัทแทยอง เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชัน (Taeyoung Engineering & Construction Co.) กลับยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน (Debt-to-equity Swap) ประมาณ 1 ล้านล้านวอนเพื่อชำระหนี้ด้อยคุณภาพตามที่เจ้าหนี้รายใหญ่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างเหล่านี้ย่อมซ้ำเติมความตึงเครียดในกลุ่มธนาคารเงาโดยส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจนี้ที่มีกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ และเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ อาจเป็นภาพสะท้อนบางส่วนของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในที่อื่น ๆ”
เควนทิน ฟิตส์ซิมมอนส์ ผู้จัดการพอร์ตตราสารหนี้ระดับโลก จากบริษัทของที โรว์ ไพรซ์ กล่าว พร้อมเสริมว่า “สถานการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมกังวล”
สินทรัพย์ธนาคารเงาเกาหลีใต้พุ่งสามเท่าในรอบทศวรรษ
ด้านบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ยอดปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารเงารวมถึงสินเชื่อภาคเอกชนเติบโตอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างลดการปล่อยสินเชื่อเสี่ยงทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและมีกำไรน้อยต้องหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนทางเลือก
หลังจากธนาคารกลางเกาหลีใต้เป็นกลุ่มแรกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2021 ความท้าทายในการรีไฟแนนซ์การกู้ยืมเหล่านี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น แน่นอนว่าปัจจุบันเกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น เพราะในไตรมาสแรกของปี 2024 อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อแบบเลเวอเรจในสหรัฐพุ่งสูงเกิน 6% และสเปรด (Spreads) ของหุ้นกู้เสี่ยงสูงในยุโรปก็ขยายมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นวิกฤตโควิด-19
แต่สำหรับกรณีของเกาหลีใต้ ระดับความกังวลนั้นสามารถเห็นได้จากความรวดเร็วในการตอบสนองด้วยนโยบาย เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของเกาหลีใต้ องค์กรบริการกำกับดูแลทางการเงิน (Financial Supervisory Service) กล่าวในช่วงต้นเดือนนี้ว่า อาจดำเนินการตรวจสอบภาคสนามของธนาคารเพื่อการออมหลังจากประเมินหนี้ที่ผิดนัดชำระสำหรับไตรมาสแรก
ยุน ซอก ยอล ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในรัฐสภาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่อย่างน้อยด้วยผลการเลือกตั้ง บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก แสดงความคิดเห็นว่า เจ้าหน้าที่อาจได้รับอิสรภาพมากขึ้นในการล้างความเสียหายของสินเชื่อที่เสื่อมค่า
เจียง วู พาร์ค นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งปรับโครงสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ “การแก้ไขหนี้ของแทยง ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นไปได้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของโครงการอสังหาฯ ต่างๆ”
เกาหลีใต้ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจจีนตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางเครดิตโดยรวมยังไม่ได้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วไป เปรียบเทียบกับประเทศจีนเพราะการตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปักกิ่งส่งผลให้มีการผิดนัดหนี้หุ้นกู้มากกว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์และยังเผชิญสภาวะเงินฝืด นอกจากนี้ยังทำให้จงจื่อ ธนาคารเงายักษ์ใหญ่ประกาศล้มละลายในปีนี้ด้วย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ปล่อยสินเชื่อในจีนเริ่มหวาดกลัวสถานการณ์ครั้งนี้จึงพิจารณาการนำเงินไปลงทุนในที่อื่น ๆ ในเอเชีย รวมถึงเกาหลีใต้ ตัวอย่างเช่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เคเคอาร์แอนด์โค (KKR & Co.) ลงนามในข้อตกลงปล่อยสินเชื่อมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อินโน แวลู (Innovalue)
อย่างไรก็ตาม สิ่งเลวร้ายที่สุดจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์เกาหลีใต้ยังไม่มาถึง โดยจิน วูค คิม นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ป ย้ำเตือนมุมมองของธนาคารประจำเดือนเม.ย. ว่า การปรับโครงสร้างหนี้ของสินเชื่อโครงการเงินจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังเหลือเพียง 0.2% ในสำหรับสถานการณ์พื้นฐาน
ที่ผ่านมา สินเชื่อเพื่อโครงการซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นประเภทหนึ่งได้รับความนิยมจากผู้พัฒนาโครงการหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้ขอรับสินเชื่อจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
วิธีการระดมทุนประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น บริษัทนายหน้าเข้าร่วมด้วยโดยการแปลงสินเชื่อดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ (Securitization) และจำหน่ายต่อให้กับนักลงทุนในตลาดเงิน
แต่สินเชื่อเหล่านี้กลับกลายเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงไปถึงความหวาดกลัวในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา
สัญญาณเบื้องต้นที่ชี้ว่าตลาดสินเชื่อของเกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหา เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อประมาณ 19 เดือนที่แล้ว กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทผู้พัฒนาสวนสนุกเลโกแลนด์ (Legoland) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโซล ที่ผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อโครงการ ส่งผลให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกครั้งล่าสุด
เหตุการณ์นี้ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของตลาด จนกระทั่งในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว เจ้าหน้าสั่งปิดสาขาหนึ่งของธนาคารเงาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม
จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้สามารถจำกัดความเสียหายไว้ได้เบื้องต้น โดยหลังจากกรณีของแทยง รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะขยายแพ็คเกจการช่วยเหลือมูลค่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อจำกัดผลกระทบที่เลวร้ายออกไปหากจำเป็น และเมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลได้สนับสนุนเพิ่มเติมอีกหลายพันล้านดอลลาร์
ด้านกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการกองเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟกล่าวว่า “พวกเขากำลังบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่ แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและสถาบันการเงินขนาดเล็กบางแห่งอาจมีความเสี่ยง”
ผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถเพิกเฉยต่อการร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดทุนจากหนี้เสียและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1990
ราคาอสังหาริมทรัพย์เกาหลีใต้ลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารของเกาหลีใต้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างมากในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ต่างประเทศ โดยได้รับแรงจูงใจจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยและมุมมองในเชิงบวกก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าสำนักงานซึ่งมีสัญญาสเช่าระยะยาวนั้นให้ผลตอบแทนที่ปลอดภัย
ทว่าในความเป็นจริงสินทรัพย์จำนวนมากเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังโควิด ตัวอย่างเช่น การลงทุนในอาคารสำนักงานและค้าปลีกหมายเลขหนึ่งของฮานา อัลเทอร์เนทีฟ แอสเซท เมเนจเม้นท์ (Hana Alternative Asset Management) ในกรุงลอนดอน
โดยบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ภัยคุกคามรุนแรงที่สุดอยู่ที่ผู้ให้กู้ยืมรายย่อย อย่างน้อยที่สุดคือตลาดผู้ปล่อยสินเชื่อในเอเชีย
“ด้วยความตั้งใจของรัฐบาลที่จะปรับโครงสร้างไซต์พัฒนาที่ดำเนินงานได้ไม่ดีบางแห่ง เราคิดว่าสถาบันการเงินขนาดเล็กและที่ไม่ใช่ธนาคารบางแห่งมีความเสี่ยงมากกว่า” แมทท์ ชเว ผู้อำนวยการสถาบันการเงินภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิตช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) กล่าว
อ้างอิง: Bloomberg