ธนาคารกรุงเทพ นำร่อง ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มีผล 29 เม.ย.นี้ ช่วยกลุ่มเปราะบาง

ธนาคารกรุงเทพ นำร่อง ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25%  มีผล 29 เม.ย.นี้ ช่วยกลุ่มเปราะบาง

ธนาคารกรุงเทพตอบรับมาตรการของภาครัฐ ลดภาระทางการเงินของลูกค้า ประกาศปรับลด MRR ลง 0.25% มีผล 29 เมษายน 2567 ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

ตามที่สมาคมธนาคารไทย (TBA) เห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และสนับสนุนการฟื้นตัว ปรับตัว

ในช่วงที่กลไกตลาดกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่จุดสมดุลในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล และสอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารกรุงเทพ พร้อมที่จะตอบสนองต่อมาตรการของภาครัฐ และตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าเพื่อลดภาระทางการเงินด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ SME และลูกค้ารายย่อย ซึ่งรวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การปรับลด MRR 0.25% ในครั้งนี้ จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการช่วยเหลือลูกค้า SME ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการ “สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan)” วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

ผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ สามารถติดต่อสมัคร สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 - 31มกราคม 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SME ในการฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน./

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์