คงดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ

คงดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ

ผลการประชุม กนง. ที่มีมติออกมา 5:2 เห็นควรให้มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 2.6% และปีหน้า 3% ดูจากสภาวะแวดล้อมทางการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯอเมริกาทำให้กนง. อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมในการประชุมครั้งหน้า

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ช่วงก่อนสงกรานต์ ภาพรวมก็ดูดีเหมือนไม่มีปัญหา แต่พอเข้าใกล้ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ปัญหาเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านกลายเป็นปัญหาหลักของโลก ตลาดการเงินทั่วโลกระส่ำระส่ายไปกับปัจจัยความขัดแย้งดังกล่าว เพราะกังวลว่าสงครามอาจจะขยายวงออกไป ทำให้ช่วงกลางเดือนเป็นช่วงที่หนักที่สุดโดยเฉพาะตลาดหุ้นทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในช่วงสงกรานต์ก็ไม่ได้โดนแบบเต็มที่มากในทันที แต่พอหมดวันหยุดมีการปรับตัวลงค่อนข้างหนัก ก่อนจะมารีบาวนด์ในช่วงปลายเดือนเมษายน

ในส่วนของตัวเลขเดือนเมษายน ดัชนีภาพการผลิตของจีน หรือ PMI ที่ออกมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ทำให้รู้สึกว่าจีนจะผ่านจุดต่ำสุดไปละแต่ยังไม่เห็นปัจจัยบวกอื่นเพิ่มเติม ด้านสหรัฐฯ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม ขยายตัวสูงขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเดือนก่อนที่ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.8% เท่ากับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดค้าปลีกขยายตัวดีขึ้น 4.02% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเทียบกับ 2.11% เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ถัดมาก็เป็นความเห็นของ นาย Jerome Powell ประธาน FED ออกมามาให้ความเห็นในแนวที่เปลี่ยนไปในทิศทางจากเดิม โดยกล่าวว่าพัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในการเข้าสู่กรอบเป้าหมายดูเหมือนจะมีความล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม จนทำให้ความมั่นใจของ FED ต่อการลดดอกเบี้ยครั้งแรกอาจจะมีความล่าช้าออกไป ในส่วนของกรรมการ FOMC ที่มีสิทธิ์โหวตในปีนี้อย่าง นาง Loretta Mester, Michelle Bowman และ John Williams ต่างออกมาแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า FED ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งในการปรับลดดอกเบี้ย ทำให้มุมมองเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปเป็นปรับลดลง 1 ครั้ง หรือเลื่อนไปปีหน้าเลย 

ท้ายสุดก็เป็นเรื่องของสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางซึ่งเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งหลังจากที่อิสราเอลใช้ขีปนาวุธเข้าโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย ในช่วงต้นเดือน และนำไปสู่การตอบโต้กลับของ อิหร่าน ที่ได้ทำการส่งฝูงโดรนเข้าโจมตีอิสราเอลในช่วงกลางเดือน ทั้งนี้ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มกังวลว่าภาวะความไม่สงบอาจจะขยายวงออกไป อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนสถานการณ์เริ่มสงบขึ้นทำให้นักลงทุนคลายกังวลและทำให้เกิด technical rebound ขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลก 

กลับมาที่ประเทศไทย ประเด็นที่จับตากันมาตลอด คือ ผลการประชุมของ กนง. ที่มีมติออกมา 5:2 เห็นควรให้มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 2.6% และปีหน้าเหลือ 3% ดูจากสภาวะแวดล้อมทางการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯอเมริกาทำให้กนง. อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมในการประชุมครั้งหน้า 

ถัดมาก็เป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลและความเห็นของคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยเห็นชอบหลักการโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางการเข้าร่วมของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า และแหล่งเงินทุน ส่วนระยะเวลาของโครงการยังคงเหมือนที่แจ้งออกมาก่อนหน้านี้ ที่จะเริ่มให้ลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเปิดให้ใช้จ่ายได้จริงในไตรมาส 4 ส่วนประเด็นการใช้เงินกู้ของธกส.นั้น รัฐบาลเล็งส่งให้กฤษฎีกาช่วยตีความ ดังนั้นก็ยังต้องรอดูกันต่อไป

สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม คาดการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ในกรอบ +/- 1,370 จุด สาเหตุมาจากแนวโน้มที่ลดลงของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน และการที่นักลงทุนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยเพียงแค่ครั้งเดียวในปีนี้ รวมทั้งช่วงเดือน พ.ค ถึง มิ.ย. มักจะเป็นช่วงที่มีเงินไหลออก ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการปรับประมาณการปีหน้า หรืออาจจะมาจากการรับเงินปันผลส่งกลับประเทศ ส่งผลกดดันต่อค่าเงินบาทและภาพการลงทุนโดยรวม 

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งคาดว่าคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายแต่อย่างใด แต่คงต้องติดตามการส่งสัญญาณของกรรมการ FED อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ประเด็นความเสี่ยงรัฐภูมิศาสตร์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล นั้นยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสสร้างกระแสรบกวนให้กับตลาดทุนทั่วโลกเป็นระยะๆ 

สำหรับพอร์ตการลงทุน ในเดือน พ.ค. ขอปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในส่วนของหุ้นรายประเทศ โดยยังให้น้ำหนักสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ คือ 50% แต่ขอจัดสรรการลงทุนใหม่ โดยจัดเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เพราะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง 

ขณะที่ เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% โดยมองว่าภาคการบริโภคของไทยยังดีอยู่ และได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว เดือนนี้ผมขอปรับลดน้ำหนักในประเทศจีน เหลือสัดส่วนประมาณ 5% ที่ยังให้คงบางส่วนไว้ในพอร์ตเพราะมองว่า เศรษฐกิจไม่น่าจะตกต่ำไปกว่านี้ 

ขณะที่สินทรัพย์ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ลงทุนใน ทอง น้ำมัน REIT รวมกันเป็น 10%