ค่าเงินบาทวันนี้ 21 พ.ค. 67 ‘อ่อนค่า‘ จากดอลลาร์แข็งค่า-เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย
ค่าเงินบาทวันนี้ 21 พ.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 36.14 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามจังหวะดอลลาร์แข็งค่า หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย กดดันราคาทองคำเผชิญแรงขาย ย่อตัวลงราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.05-36.30 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.14 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.30 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.02-36.16 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.45% อีกครั้ง นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯก กับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 156.40 เยนต่อดอลลาร์ และเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้
ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำเผชิญแรงขาย และย่อตัวลงราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง และการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทตั้งแต่ช่วงบ่ายวันก่อนหน้า (ในเชิงเทคนิคัล อาจเกิดสัญญาณ RSI Bullish Divergence บน Time Frame m15, H1 และ H4) ทำให้เรามั่นใจว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หรืออย่างน้อย การแข็งค่าหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์
อีกครั้ง อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าในสัปดาห์นี้ก็ยังมีอยู่ ทั้ง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อ เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องหลุดระดับ 23 บาท/100 เยน (เรายังคงแนะนำให้ Buy on Dip JPYTHB เช่นเดิม โดยยังคงมองเป้า ณ สิ้นปีนี้ ที่ 24-24.10 บาท/100 เยน) และอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ทิศทางราคาทองคำ ซึ่งอาจเริ่มเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำย่อตัวลง ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุดได้ทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยเพิ่มเติม เยอะกว่าที่เราประเมินไว้ และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้บ้าง
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า หากแนวโน้มเงินบาทยังอยู่ในช่วง sideways การแข็งค่าหลุดโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันนั้น แม้จะทำให้ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น แต่จะเป็นโอกาสในการ Buy on Dip ที่ดี เพราะหลังจากนั้น เงินบาทมักจะรีบาวด์อ่อนค่าลงกลับไปทดสอบโซนแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้ (และบ่อยครั้งจะมีการอ่อนค่าเหนือระดับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้ราว 15-20 สตางค์) ซึ่งต้องจับตาแนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงกลับไปทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว โดยผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia (รายงานช่วง After Close วันพุธนี้) ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาหุ้นธีม AI/Semiconductor ได้พอสมควร ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.18% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML +1.4% เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของ Nvidia ในช่วงกลางสัปดาห์ อย่างไรก็ดี โดยรวมผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนในช่วงระยะหลังทยอยออกมาดีกว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 4.45% หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ยังคงส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ โดยเราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.4-104.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ และเผชิญแรงขายกดดันให้ย่อตัวลงสู่โซน 2,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่โซน 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และเฟด ซึ่งมุมมองของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินได้พอสมควร หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมากังวลว่า ทั้ง เฟด และ ECB อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดได้ประเมินไว้