เปิดรับฟังร่างกฎหมายหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ 

เปิดรับฟังร่างกฎหมายหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ 

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมกิจกรรมในตลาดทุน เพื่อสอดรับกับบริบทดังกล่าว ได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในหลายหมวด

 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีในตลาดทุนได้อย่างทันถ่วงที จึงมีแนวทางในการพิจารณาแยกหมวด โดยนำ ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์มาพิจารณาก่อน โดยผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ดังนี               

            หลักการสำคัญ

            เพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน โดยให้การดำเนินการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ สามารถทำในรูปแบบหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสองประเด็นหลัก คือ

1) เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับการออกหลักทรัพย์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 

2) กำหนดบทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์

  หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์มีสถานะทางกฎหมาย

             ร่างกฎหมายได้กำหนดให้หลักทรัพย์ที่ออกโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มี “ผลบังคับตามกฎหมายเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ที่เป็นเอกสาร” และให้ถือว่า “เป็นเอกสารต้นฉบับ” 

ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักความเท่าเทียม (Functional equivalence) ระหว่างกระดาษ และ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ผู้เข้าทำธุรกรรมหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์จะปฏิเสธผลผูกพันทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ไม่ได้การจัดทำเป็นกระดาษไม่ได้

             กฎหมายรองรับวงจรของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์

             ร่างกฎหมายรองรับวงจรของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน เช่น การออกหลักทรัพย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การส่งมอบหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกใหม่ให้แก่ผู้ซื้อ การโอนและการยืมหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ การซื้อขายหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

การจัดทำทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และการยกเลิกหรือเพิกถอนหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

      เมื่อเป็นหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วไม่มีหลักทรัพย์ที่เป็นเอกสาร

            เมื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดให้หลักทรัพย์ประเภทใดสามารถออกโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ หลักทรัพย์ประเภทนั้นจะไม่เป็นหลักทรัพย์ที่เป็นเอกสารหรือไม่มีใบแสดงสิทธิทางกายภาพในแบบเดิมอีกต่อไป

โดยการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะถูกบันทึก จัดทำ และถูกควบคุมสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 

เช่น เดิมการออกใบหุ้นกู้ จะมีเอกสารแสดงสิทธิที่ระบุเลขที่ ID ของแต่ละใบหุ้นกู้ แต่เมื่อการออกหุ้นกู้ทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจไม่จำเป็นต้องมีเลขที่ใบหุ้นกู้แบบเดิม

โดยรายการและข้อมูลที่จำเป็นของหุ้นกู้ดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้สามารถเข้าไปตรวจสอบในระบบได้

กระดาษยังอาจขอได้ในบางกรณี  

             ร่างกฎหมายได้เปิดช่องให้เจ้าของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์อาจขอให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ออกหลักฐานแสดงสิทธิในหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า

การออกเอกสารสิ่งพิมพ์ดังกล่าวจะต้อง 1) จัดทำขึ้นด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ 2) ต้องแสดงได้ว่าเอกสารสิ่งพิมพ์นั้น มีข้อความหรือรายการครบถ้วนถูกต้องตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการสร้างขึ้น

           อย่างไรก็ดี หลักฐานแสดงสิทธิในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ กฎหมายจะให้ถือ “เป็นสำเนาเอกสาร” โดยให้เป็นสำเนาเอกสารที่ศาลสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้                

             ลักษณะสำคัญของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์

             ร่างกฎหมายยังคงกำหนดให้การออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องมีรายการที่จำเป็นเช่นเดียวกับการออกหลักทรัพย์ที่เป็นเอกสาร โดยหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องมีลักษณะ ดังนี้

1) ต้องมีรายการหรือข้อความตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด (จะมีการประกาศกำหนดต่อไป)

2) ต้องมีการรักษาความถูกต้องของรายการตาม 1) ให้ถูกต้องแม้มีการแก้ไขเพิ่มเติม

3) ต้องมีการควบคุมสิทธิทั้งวงจรของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การออก การโอน การนำไปใช้เป็นหลักประกันจนถึงการยกเลิกเพิกถอนหลักทรัพย์ 

             นอกจากนี้ ในอนาคต อาจมีการประกาศกำหนดเพิ่มเติมลักษณะของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้คำนึงถึง “ความน่าเชื่อถือ” ของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ เช่น อาจมีการประกาศรายละเอียด มาตรฐาน หรือวิธีการที่น่าเชื่อถือที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละประเภท

 การออกและโอนหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์

            หลักการสำคัญสองประการที่จะทำให้การออกและการโอนหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย คือ

1) หลักควบคุมสิทธิในหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นได้แต่เพียงผู้เดียว โดย “การควบคุมสิทธิ” หมายถึง ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงหรือเรียกดูข้อมูล หรือจำหน่าย จ่ายโอนหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ได้แต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีบริษัทหลักทรัพย์เป็นตัวกลาง บริษัทหลักทรัพย์จะทำหน้าที่เป็นเพียงตัวแทน แต่ไม่ทำให้สิทธิในการควบคุมแต่เพียงผู้เดียวของนักลงทุนตกไปเป็นของบริษัทหลักทรัพย์ และ

2) จะต้องสามารถระบุตัวตนของผู้มีสิทธิได้  เช่น กรณีของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ กำหนดให้บริษัทที่ออกต้องดำเนินการส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดยใช้วิธีการที่น่าเชื่อถือที่จะทำให้ผู้ซื้อเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่สามารถควบคุมสิทธิได้แต่เพียงผู้เดียว และจะต้องระบุตัวตนของผู้มีสิทธิดังกล่าวได้

เช่นเดียวกัน กรณีการโอนหลักทรัพย์จะมีผลตามกฎหมายก็ต่อเมื่อ ผู้โอนสามารถทำให้ผู้รับโอนเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ในลักษณะที่ผู้รับโอนสามารถควบคุมสิทธิได้แต่เพียงผู้เดียว และจะต้องระบุตัวตนผู้รับโอนได้

       หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นประกันการชำระหนี้ได้

         ร่างกฎหมายให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัด โดยกำหนดให้หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถใช้เป็นหลักประกันได้นั้น จะต้องมีการบันทึกการใช้หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักประกันตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ

1) บันทึกโดยใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถรักษาความครบถ้วนถูกต้องของข้อความที่บันทึกไว้

2) สามารถระบุตัวตนของคู่สัญญาได้

          ในการนี้ เจ้าหนี้ที่รับหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นหลักประกันจะมีบุริมสิทธิเหนือหลักทรัพย์ดังกล่าวทำนองเดียวกันกับผู้รับจำนำ

          หลักทรัพย์ที่อยู่ในระบบเดิม

          กรณีหลักทรัพย์ที่อยู่ในระบบเดิม ร่างกฎหมายกำหนดให้การออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่กระทบถึงหลักทรัพย์ที่มิใช่หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มีการออกไปแล้วก่อนหน้า

โดยหากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวและเจ้าของหลักทรัพย์ในระบบเดิมประสงค์จะเปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ก็ย่อมทำได้ (จะมีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป) 

           อย่างไรก็ดี การออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ จะไม่กระทบสิทธิของเจ้าของหลักทรัพย์ในระบบเดิมที่ไม่ประสงค์จะเปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ และไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าให้เปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์

          ท้ายที่สุด บทความฉบับนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (การรองรับการออกหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนนำเสนอรัฐสภาบนระบบกลางทางกฎหมายระหว่างวันที่ 16 – 30 พ.ค. 2567 ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาร่างฉบับเต็มและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://www.law.go.th