นักเศรษฐศาสตร์ภาคสนามมองนโยบายการเงินของไทย (2)

นักเศรษฐศาสตร์ภาคสนามมองนโยบายการเงินของไทย (2)

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงการเปลี่ยนอาชีพ จากการเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ (บล.ภัทรฯ)

ซึ่งการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ภาคสนามมาครบ 30 ปีแล้วนั้น ทำให้ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับการยึดอาชีพเป็นนักเศรษฐศาสตร์

เราได้ประสบกับ “ของจริง” และยังตอกย้ำให้ผมเห็นว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นประโยชน์ในโลกของความเป็นจริง ตรงกันข้าม การนำเอาความรู้และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงทีและค่อนข้างจะแม่นยำ

แต่การคาดการณ์ว่าจะร้ายแรงจนเป็นวิกฤติหรือไม่ และวันไหนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

การเล่าถึงความหลังนั้น ผมทิ้งท้ายเอาไว้ในตอนที่แล้วว่า บทวิเคราะห์บทแรกที่ผมเขียนในฐานะนักวิเคราะห์ของ บล.ภัทรฯ นั้น ได้อาศัยการวิเคราะห์ของ Prof.Mundell ในปี 2506 ที่มีข้อสรุปว่าในประเทศขนาดเล็กที่เปิดเสรีทางการเงิน (ให้เงินไหลเข้าและไหลออกโดยเสรี)

ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะแตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว (flexible exchange rate) หรือแบบคงที่ (fixed exchange rate) ดังนี้คือ

อัตราแลกเปลี่ยนคงที่

(ช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540)

1.นโยบายการคลังจะมีศักยภาพสูงในการเร่งตัวหรือชะลอตัวเศรษฐกิจ 2.นโยบายการเงินแทบจะไม่มีผลเลยในการกระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ

อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น

(คล้ายกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)

1.นโยบายการคลังแทบจะไม่มีผลเลยในการกระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ 2.นโยบายการเงินจะมีศักยภาพสูงในการเร่งตัวหรือชะลอตัวเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ผมจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่ก่อนที่จะขยายความเกี่ยวกับข้อสรุป Prof.Mundell

ผมจะต้องขออธิบายความแตกต่างระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังก่อน เพราะในหลายกรณี คนส่วนใหญ่จะนึกว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แม้แต่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 สาระสำคัญจะเกี่ยวกับวินัยการคลังเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนโยบายการเงินแต่อย่างใด

นโยบายการคลัง คือการที่รัฐบาลมีอำนาจพิเศษ (ที่ไม่มีใครอื่นในประเทศมี) คืออำนาจยึดทรัพย์สินส่วนหนึ่งของประชาชน (เก็บภาษี) มาใช้ในการดำเนินกิจการและนโยบายของรัฐบาล

เพื่อพัฒนาประเทศหรือโอนเงินให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (เช่นเพิ่มเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ) จะเห็นได้ว่านโยบายการคลัง คือการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการจัดสรรทรัพยากรและรายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นโยบายการเงิน คือการที่ธนาคารกลางมีอำนาจพิเศษ (ที่ไม่มีใครอื่นในประเทศมี) ในการพิมพ์เงินตราออกมาให้ใช้ในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ธนบัตรจะมีข้อความระบุว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” ทำให้คนขายหมูที่ต้องการซื้อส้ม ไม่จำเป็นต้องไปค้นหาคนที่ต้องการกินหมูและขายส้ม

และยังเป็นวิธีเก็บรักษาอำนาจซื้อและวัดความมั่งมีที่สะดวกอีกด้วย (หากไม่มีเงินเป็นหน่วยวัด ก็ต้องบอกว่าผมร่ำรวยเพราะมีที่ดิน 2 ไร่ หมู 10 ตัว และไก่ 50 ตัว เป็นต้น)

ทั้งนี้ เงินตราที่พิมพ์ออกมานั้น หากมีปริมาณมากเกินไป ก็จะทำให้เงินดังกล่าวด้อยค่าลง (เงินเฟ้อสูงขึ้น) แต่หากเงินมีปริมาณไม่เพียงพอ ก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดคือเงินเฟ้อติดลบหรือเงินมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ข้อสรุปของ Prof.Mundell มีดังนี้
กรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น (สถานการณ์ปัจจุบัน)

นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพสูง เช่น หาก ธปท.เพิ่มปริมาณเงินในระบบ (ธปท.ซื้อพันธบัตร ธปท.ในตลาดโดยการพิมพ์เงินบาทเพิ่มขึ้นมาซื้อพันธบัตรดังกล่าว) ก็จะส่งผลระยะสั้นให้ดอกเบี้ยในตลาดลดลง เงินก็จะไหลออกไปต่างประเทศ (ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า)

แต่การที่คนแย่งกันเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินดอลลาร์นั้น จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าก็จะช่วยกระตุ้นการส่งออกและลดการนำเข้า ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว ในที่สุดดอกเบี้ยในประเทศจะกลับอยู่ที่เดิมไม่ได้ลดลง (ภาษาเศรษฐศาสตร์ คือการขยับไปทางขวาของเส้น LM จะทำให้เส้น IS ขยับไปทางขวาด้วย)

นโยบายการคลังไร้ประสิทธิภาพ หากรัฐบาลหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ (กู้เงินมากขึ้น) การกู้เงินเพิ่มดังกล่าว จะทำให้ดอกเบี้ยขยับขึ้น (ดอกเบี้ยระยะยาวที่กำหนดโดยกลไกตลาดเพิ่มขึ้น) แต่ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศและทำให้เงินบาทแข็งค่า

ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกลดลงและการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะชะลอ GDP ลง กล่าวคือการขาดดุลการค้าจะลดทอน (offset) แรงกระตุ้นจากการขาดดุลงบประมาณ (ภาษาเศรษฐศาสตร์คือ เส้น IS ขยับไปทางขวา แล้วก็ขยับกลับไปทางซ้าย)

กรณีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่

(สถานะก่อนปี 2540)

นโยบายการเงินไร้ประสิทธิภาพ สมมติว่า ธปท.ต้องการชะลอเศรษฐกิจที่ร้อนแรงลง โดยการลดปริมาณเงินบาท โดยการขึ้นดอกเบี้ยในระบบ สิ่งที่ตามมาคือการไหลเข้าของเงินทุน (เพราะดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นกว่าดอกเบี้ยในโลก) ก็จะกดดันให้เงินบาทแข็งค่า

ธปท.ต้องเข้าไปแทรกแซง โดยการขายเงินบาทออกมาซื้อเงินดอลลาร์ แต่การเพิ่มเงินบาทจะขัดกับความต้องการลดปริมาณเงินบาทข้างต้น (ภาษาเศรษฐศาสตร์คือ เส้น LM ขยับไปทางซ้าย แล้วก็ขยับกลับไปที่เดิม)

นโยบายการคลังมีประสิทธิภาพสูง หากรัฐบาลต้องการชะลอเศรษฐกิจลง โดยการลดรายจ่ายหรือเพิ่มภาษี การขาดดุลงบประมาณจะลดลง และเมื่อกู้น้อยลง ดอกเบี้ยในประเทศจะลดลง ทำให้เงินทุนจะไหลออก เงินบาทจะอ่อนค่า แต่ ธปท.ต้องตรึงค่าเงินไม่ให้อ่อนด้วยการซื้อเงินบาท (โดยการขายเงินทุนสำรองออกมา)

การลดปริมาณเงินในประเทศจะส่งผลให้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น (ภาษาเศรษฐศาสตร์คือ เส้น IS ขยับไปทางซ้าย และเส้น LM ก็ขยับไปทางซ้าย) กล่าวคือ นโยบายการคลังและนโยบายการเงินจะประสานกันโดยอัตโนมัติ

การวิเคราะห์เชิงทฤษฎีดังกล่าวนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่อาศัยสมมติฐานจำนวนมาก ที่ไม่สอดคล้อง 100% กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 2540 แต่ก็ช่วยให้ผมสามารถประเมินได้ตั้งแต่ปี 2537 ว่าสภาวการณ์ในตอนนั้นไม่สามารถจะคงสภาพต่อไปได้นาน ต้องมีการปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.