นักเศรษฐศาสตร์ภาคสนามมอง นโยบายการเงิน ของไทย (1)
เดือน พ.ค.2567 มีความสำคัญสำหรับผม เพราะได้ทำงานกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรครบ 30 ปี (เวลาผ่านไปเร็วมาก) ซึ่งในตอนนั้น คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ
ผมยังจำได้จนทุกวันนี้ว่า วันที่ไปสัมภาษณ์เพื่อจะไปทำงานกับภัทรฯ นั้น ผู้ที่สัมภาษณ์ผมคือ คุณบรรยง พงษ์พานิช โดยใช้เวลาสัมภาษณ์นานกว่า 3 ชั่วโมง
จนทุกวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยถูกใครสัมภาษณ์ (หรือไปสัมภาษณ์ใคร) นานขนาดนั้น สรุปว่าผมโชคดี ได้เข้าทำงานกับ ดร.อโศก วงศ์ชอุ่ม ซึ่งเป็น Head of Research ในวันนั้น คงเป็นเพราะว่าคุณบรรยง ซึ่งดูแลฝ่ายวานิชธนกิจ (Investment Banking) ประเมินแล้วว่าผมไม่เหมาะที่จะทำงานด้านวานิชธนกิจ
ตอนนั้นผมมีความรู้เรื่องตลาดทุนน้อยมาก เพราะก่อนหน้านั้นผมรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ มีอายุราชการนานถึง 17 ปี (ลาไปศึกษาต่อปริญญาโท-เอก ประมาณ 5 ปี)
ดร.อโศก จึงส่งผมไปอบรมเกี่ยวกับตลาดทุนและตลาดการเงิน 1 สัปดาห์ ต้องยอมรับว่าคนที่เข้าอบรมร่วมกันนั้นอายุน้อยกว่าผมนับ 10 ปี และเก่งกว่าผมอย่างที่เทียบกันไม่ติด
ดังนั้น เมื่อเข้ามาทำงานที่ภัทรฯ ผมจึงต้องไปนั่งตามโต๊ะของนักวิเคราะห์หุ้นทีละคน ให้พวกเขาช่วยอธิบายเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ให้ผมได้มีความเข้าใจเบื้องต้น ซึ่งทุกคนอายุเพียง 25-28 ปี แต่มีความรู้ความสามารถมาก
เพราะตอนนั้นตลาดหุ้นของไทยรุ่งเรืองมากและมีการแข่งขันสูง ดังนั้น เวลาจึงมีค่ามาก แต่ทุกคนก็ตอบสนองผมอย่างดีและมีน้ำใจ เล่าให้ผมฟังอย่างกระตือรือร้น จนทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกัน และหาโอกาสไปกินข้าวด้วยกัน
งานวิจัยชิ้นแรกของผมที่ภัทรฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย คือเรื่องที่ประเทศไทยกำลังเปิดเสรีทางการเงิน แปลว่าเปิดให้เงินทุนไหลเข้า-ออกโดยเสรี เป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นสำหรับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2537
แนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในตอนนั้น คือการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยนำเข้า (ยืม) เงินทุนจากต่างประเทศเข้ามากระตุ้นการลงทุนในประเทศ
เพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้หลุดพ้นจากอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ใช้แรงงานมากแต่เครื่องจักรไม่มาก ไปสู่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก (Capital intensive Industries)
ถามว่าทำไมถึงต้องรีบทำเช่นนั้น คำตอบคือช่วงนั้น ประเทศไทย “เนื้อหอม” อย่างมาก เศรษฐกิจไทยในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้า ขยายตัวเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปี ทำให้ IMF กับ World Bank มาจัดประชุมประจำปีที่ประเทศไทยในปี 2534
ส่วนหนึ่งเพื่อสะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่กำลังได้รับการขนานนามว่ากำลังจะเป็น “เสือ” เศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย
นโยบายที่ว่านี้คือ การที่ภาครัฐสนับสนุนให้สถาบันการเงินของไทยและต่างประเทศ (ที่มีตัวแทนในประเทศไทย) จัดตั้งสำนักงานวิเทศธนกิจ เรียกว่า Bangkok International Banking Facility (BIBF) ซึ่งทำธุรกรรมในการนำเงินทุนจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้ทั้งในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลไทยได้ให้ไปอนุญาตก่อตั้ง BIBF ถึง 45 แห่งในปี 2535 ตอนนั้นไทยหวังว่า จะได้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคนี้อีกด้วย
ทำไมผมจึงเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนนั้น คำตอบคือการเปิดให้ทุนไหลเข้า-ออกโดยเสรีนั้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญมากต่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของประเทศเล็กๆ ที่มีเศรษฐกิจเปิด เช่น ประเทศไทย
ตรงนี้ผมไม่ได้มีความรอบรู้พิเศษแต่อย่างใด เพียงกลับไปอ่านบทวิเคราะห์ของ Prof.Robert Mundell ที่เขียนลงใน The Canadian Journal of Economics and Political Science ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน พ.ย.2506 (30 ปีก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีทางการเงิน) ซึ่งมีชื่อว่า “Capital Mobility and Stabilization Policy Under Fixed and Flexible Exchange Rates”
นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนจะต้องได้อ่านบทความนี้ของ Prof.Mundell ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2542 ในฐานะเป็น “เจ้าพ่อ” เรื่อง Optimal Currency Area ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การพิมพ์เงินยูโรใช้ในยุโรป ที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543
บทความของ Prof.Mundell ที่ผมกล่าวถึงนั้น มีความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างมาก ในความเห็นของผมในวันนั้น เพราะการเปิดเสรีให้เงินทุนไหลเข้า-ออก พร้อมกับการที่ ธปท.ยังตรึงค่าเงินบาทที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์นั้น
Prof.Mundell วิเคราะห์ให้เห็นว่าจะทำให้นโยบายการเงินของไทย “เป็นหมัน” ไม่สามารถควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้เลย ในทางตรงกันข้าม นโยบายการคลังจะมีศักยภาพสูงมากในการขับเคลื่อนหรือชะลอเศรษฐกิจลง
แต่ในภาวะปัจจุบันที่อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (อ่อนค่าหรือแข็งค่าได้ตามกลไกตลาดเป็นหลัก) นั้น Prof.Mundell วิเคราะห์ว่า นโยบายการเงินจะมีศักยภาพสูงมาก แต่นโยบายการคลังจะมีศักยภาพน้อยมาก
การเล่าถึงความหลังเมื่อ 30 ปีที่แล้วของผมจึงทำเพราะมองว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะยังมีความสำคัญอย่างมากกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และการกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจไทย ผมจึงจะขอเล่าเรื่องนี้ต่อไปอีกใน 3 สัปดาห์ข้างหน้าครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร