ThaiBMA ลุ้นหุ้นกู้ครึ่งหลังฟื้น ต้นทุน‘ดอกเบี้ย-ความเสี่ยง’ลด

ThaiBMA ลุ้นหุ้นกู้ครึ่งหลังฟื้น  ต้นทุน‘ดอกเบี้ย-ความเสี่ยง’ลด

“สมาคมตราสารหนี้” เผยตลาดหุ้นกู้เอกชนครึ่งหลังปี 67 คาดแนวโน้มกลับมา “คึกคัก” อีกครั้ง หากเฟดลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลบวก “ต้นทุน” ออกหุ้นกู้ลดลง เชื่อดึงดูดความสนใจบริษัทเอกชนหันมาระดมทุนมากขึ้น ย้ำเป้ายอดออกหุ้นกู้ปีนี้แตะ 9 แสนล้านถึง 1 ล้านล้าน  

ตลาดตราสารหนี้ไทย” ของภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมา ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเอกชนใช้ “แหล่งระดมเงิน” ในช่องทางอื่น เช่น ยังมีวงเงินกู้ธนาคาร (แบงก์) เหลืออยู่ ที่ยังมีต้นทุนดอกเบี้ยถูกกว่าการออกหุ้นกู้ แม้จะมีแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ย แต่ปัจจุบันยังถือว่าดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลทำให้เห็นกลุ่มนี้ชะลอการออกหุ้นกู้ระยะยาว รอความชัดเจนประเด็นดอกเบี้ยปรับลดลงก่อน 

อย่างไรก็ตาม ประเมินครึ่งหลังปี 2567 ตลาดหุ้นกู้เอกชนคาดว่าน่าจะกลับมา “คึกคัก” อีกครั้ง หลังจากแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1-2 ครั้ง ดังนั้น ถือว่าเป็นปัจจัย “บวก” ให้กับตลาดหุ้นกู้เอกชนที่จะหันกับมาใช้เป็นช่องทางระดมทุนกันใหม่ สอดคล้องกับครึ่งหลังมี “หุ้นกู้” ครบกำหนดจำนวนมากอีกด้วย 

ThaiBMA ลุ้นหุ้นกู้ครึ่งหลังฟื้น  ต้นทุน‘ดอกเบี้ย-ความเสี่ยง’ลด

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นกู้เอกชนครึ่งหลังปี 2567 ทางฝั่งยอดออกหุ้นกู้คาดว่าน่าจะมีโอกาสกลับมาคึกคัก หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความชัดเจนนโยบายการปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เหลือเพียง 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้

ซึ่งการลดดอกเบี้ยของเฟดเร็วขึ้นจะส่งผลทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ปรับตัวลง และจะทำให้ตลาดหุ้นกู้มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะเอกชนจะหันกลับมาระดมทุนทางช่องทางดังกล่าว หลังจากช่วงที่ผ่านมาเอกชนหันไปใช้ช่องทางอื่นๆ ในการระดมทุน เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “ไทยบีเอ็มเอ” มองตลาดหุ้นกู้ครึ่งหลังฟื้น แต่ยังคงเป้ายอดการออกหุ้นกู้ในปีนี้อยู่ที่ระดับ 900,000 ล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท เพราะมองว่าช่วงครึ่งปีหลังยังมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีกราว 540,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ครบกำหนดช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ดังนั้น บริษัทเอกชนจึงอาจจะรอดูความชัดเจนในช่วงกลางปีก่อนว่าดอกเบี้ยของเฟดจะปรับลงหรือไม่ลง  

“เราคงต้องติดตามรอความชัดเจน ทั้งทิศทางดอกเบี้ยของเฟดช่วงกลางปีนี้ก่อน และการตัดสินใจของบริษัทเอกชนในการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจากแหล่งเงินระดมทุนช่องทางต่างๆแต่เราเชื่อว่า เมื่อดอกเบี้ยในตลาดลดลงแล้วจะกลับมาสนับสนุนตลาดหุ้นกู้ ดังนั้น เรายังคงยอดออกหุ้นกู้ปีนี้ไว้ที่1 ล้านล้านบาทตามเป้าหมายเดิม”

เฟดลด “ดอกเบี้ย” หนุนหุ้นกู้กลับมาคึก 

ดังนั้น หากดอกเบี้ยของเฟด “ไม่ลง” และดอกเบี้ยค้างระดับสูงนานบริษัทเอกชนคงกลับมาพิจารณาหาจังหวะที่เหมาะสมกับการบริหารความความเสี่ยงและภาวะตลาดก่อนตัดสินใจ แต่หากดอกเบี้ยของเฟด  “ลง” ถือว่า เป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นกู้แน่นอน เนื่องจากน่าจะเริ่มเห็นบริษัทเอกชนกลับมาใช้ช่องทางออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนมากขึ้น 

โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่มีเครดิตเรตติ้งสูงระดับลงทุน (Investment Grade) A ขึ้นไป และ BBB+ ยังเป็นที่ต้องการของผู้ลงทุน เพราะผู้ลงทุนหุ้นกู้มีบทเรียนความเจ็บปวดมาแล้ว ดังนั้น จะเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ลงทุนจะเป็นแบบ Fright to Qualify ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้มากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหุ้นกู้แต่ละตัวกันในตลาดก่อนที่นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุน นับว่าเป็นเรื่องที่ดี 

เช่นเดียวกับ “หุ้นกู้ไฮยีลด์” ยอดออกหุ้นกู้อาจจะชะลอตัวลง แต่ยังเป็นที่ต้องการของผู้ลงทุน เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาพบว่า แม้จะเป็นหุ้นกู้ไฮยีลด์ออกโดยบริษัทที่มีผลขาดทุน แต่มีบริษัทแม่ที่มีประวัติมายาวนานและมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเป็นที่รูู้จัก และมีฐานทุนแข็งแกร่ง รวมทั้งมีทีมผู้บริหารเป็นที่รู้จักหุ้นกู้บริษัทดังกล่าวยังสามารถขายได้หมดเกลี้ยง  

ดังนั้นช่วงครึ่งหลังปีนี้ เรามองว่า ความต้องการลงทุนหุ้นกู้ ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนท่ามกลางความผันผวน มีปัจจัยไม่แน่นอน “หุ้นกู้” ยังคงเป็นอีกหนึ่ง สินทรัพย์ทางเลือก ที่ทั้งผู้ออกและผู้ลงทุนหุ้นกู้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการเงิน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน และบริหารธุรกิจ 

ขณะที่แนวโน้มผลตอบแทนของหุ้นกู้ ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก  สำหรับผลตอบแทนหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นปีมานี้ เครดิตเรตติ้ง A ผลตอบแทน 3.5% , BBB+ ผลตอบแทน 4.5% และ Non-rated (ระยะเวลาลงทุนไม่ถึง 3 ปี) ผลตอบแทน 6-8%  

“แน่นอนว่า หากทิศทางเฟดลดดอกเบี้ยชัดเจนขึ้น และส่วนใหญ่ครึ่งปีหลังเป็นบริษัทขนาดใหญ่เตรียมออกหุ้นกู้ ระดับหมื่นล้านอย่าง ปตท.และทรูคอร์ปอเรชั่น น่าจะยังคงแผนการออกหุ้นกู้ในปีนี้”

“หุ้นกู้รูปแบบใหม่” ทางเลือกลงทุนที่ดี-รีเทิร์นระยะยาวสูง 

นางสาวอริยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการลงทุนในหุ้นกู้ยังมี “หุ้นกู้รูปแบบใหม่” ที่กำลังเป็นการลงทุนทางเลือกดีต่อใจ และยังสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว นั่นคือ “หุ้นกู้ความยั่งยืน” (Sustainability-Linked Bonds : SLB) ออกโดยภาครัฐและบริษัทเอกชน คาดยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เริ่มให้ความนิยมมากขึ้น จากปัจจุบันมียอดหุ้นกู้สะสมราว 650,000 ล้านบาท สัดส่วนเกิน 50% ออกโดยภาครัฐ   

สำหรับภาครัฐมีแผนออกหุ้นกู้ความยั่งยืนเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตภายในปีนี้ หากเฟดลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะออกมาได้ รวมถึงบริษัทเอกชนหลายอุตสาหกรรม กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมตัวออกหุ้นกู้ยั่งยืน เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) จากเดิมบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ที่ออกจะเกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานโรงไฟฟ้า และรถไฟฟ้าเท่านั้น 

เช่นเดียวกับ “หุ้นกู้ดิจิทัล” ผ่านช่องทางการขายแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” พบว่าผู้ลงทุนให้ความสนใจ เนื่องจากเมื่อหุ้นกู้ดิจิทัลออกขายจะขายหมดในระยะรวดเร็ว สะท้อนว่ายังมีความต้องการ (ดีมานด์) การลงทุนอีกมาก