แบงก์ชาติชี้ ‘หนี้เสีย’ ลามธุรกิจรายใหญ่ ยังไม่ใช่สัญญาณน่าห่วง!
แบงก์ชาติชี้ สัญญาณยังไม่น่ากังวล แม้หนี้เสียลามสู่ธุรกิจรายใหญ่ ชี้เป็นการจัดชั้นเชิงคุณภาพ แม้ลูกหนี้ชำระปกติ เหตุเพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือ หรือกำไรธุรกิจลดลง เป็นเพียงการป้องกันความเสี่ยงด้านคุณภาพของแบงก์
นับตั้งแต่ไตรมาสแรก ปี 2567 เป็นต้น ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นคือ ทิศทางของ “คุณภาพหนี้” ของทุกกลุ่มสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อครัวเรือน สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อรายใหญ่ ที่กลับมาด้อยคุณภาพลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เห็นได้จากภาพรวม “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้”หรือ “เอ็นพีแอล” โดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อสิ้นไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยพบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภทสินเชื่อ
ที่น่าสนใจคือ สินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท ที่เริ่มกลับมาอยู่ในวงจรเรดาร์อีกครั้ง หลังหนี้เสียกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตกต่างกับช่วงที่ผ่านมา ที่ “ธุรกิจรายใหญ่” ถือเป็นภาคธุรกิจเดียวที่ทนทานต่อปัจจัยลบ หรือวิกฤติได้มากที่สุดแล้ว หากดูหนี้เสียของธุรกิจขนาดใหญ่ ยอดขายเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไป หนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.14% จาก 1.09% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และสินเชื่อธุรกิจที่ยอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท หนี้เสียอยู่ที่ 6.88% เพิ่มขึ้นจาก 6.72% เช่นเดียวกับ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.73% จาก 3.49% สำหรับธุรกิจที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท และธุรกิจที่ยอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.47% จาก 10.97%
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้เสียธุรกิจรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป บางส่วนมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของธุรกิจในต่างประเทศ และปัจจุบันลูกหนี้ดังกล่าวยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติตามสัญญา แต่การที่ธนาคารพาณิชย์มีการจัดชั้นเชิงคุณภาพลูกหนี้ไปอยู่ในกลุ่ม “ลูกหนี้เสีย” ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ตามเกณฑ์ของ SICR หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต
เช่น ผลประกอบการด้อยลง internal credit rating ปรับลดลง หรือลูกหนี้อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าลูกหนี้รายนั้นจะยังสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชี T9 ที่กลับมาใช้ตั้งแต่ ม.ค. ปี 2567 ภายหลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนปรนของธปท.
ดังนั้น หนี้ในกลุ่ม Stage2 (สินเชื่อที่ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90วัน) และ ในกลุ่ม Stage3 ที่เรียกง่ายๆว่า “หนี้เสีย” ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่ Expected ตามการกลับมาของการบังคับใช้เกณฑ์ SICR เต็มรูปแบบ
ถามว่าสัญญาณเหล่านี้ น่ากังวลหรือไม่? ไม่ใช่สัญญาณที่น่ากังวล แต่ก็ต้องติดตามแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อและภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกันกับ พอร์ตสินเชื่อธุรกิจโดยรวม ที่ล่าสุดหนี้เสียปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.64% จากสิ้นปี 2566 ที่ 2.57% ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพในธุรกิจขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ประกอบกับ NPL ของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้น หลักๆ มาจาก ธุรกิจการพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ที่ขนาดเล็ก ที่มีความเปราะบางและอยู่ภายใต้หรือเคยได้รับความช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์
“หนี้เสียที่ทยอยเพิ่มขึ้น ยังมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ปล่อยใหม่ในช่วงโควิด แต่จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending ต่อเนื่องจากมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน”