ค่าเงินบาทวันนี้ 17 มิ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ หลังราคาทองรีบาวด์ กังวลการเมืองยุโรป

ค่าเงินบาทวันนี้ 17 มิ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ หลังราคาทองรีบาวด์ กังวลการเมืองยุโรป

ค่าเงินบาทวันนี้ 17 มิ.ย.67 เปิดตลาด "แข็งค่า" ที่ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ "กรุงไทย" จากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ รวมถึงราคาทองคำรีบาวด์ ความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรป มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.55 - 36.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.77 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.30-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.65-36.77 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้เกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ รวมถึงความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรปที่กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายของการเมืองยุโรปก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินยูโร (EUR) ก็ผันผวนอ่อนค่าลง ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน และยังคงติดอยู่แถวโซน 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้ชะลอลงบ้าง ทว่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ หากความไม่แน่นอนของการเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย พร้อมกันนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและเงินหยวนของจีน (CNY) โดยเงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้นบ้าง หากผู้เล่นในตลาดเชื่อมั่นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนมากขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 17 มิ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ หลังราคาทองรีบาวด์ กังวลการเมืองยุโรป

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้ผู้เล่นในตลาดจะเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองยุโรป นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาดีกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ 

 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์ก็สามารถแข็งค่าขึ้นได้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรป

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองไทย และการเมืองยุโรปที่อาจสร้างความผันผวนในกับตลาดการเงิน พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

 

 

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ฝั่งสหรัฐ – ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global เดือนมิถุนายน (Manufacturing & Services PMIs) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเรามองว่า โทนการสื่อสารอาจมีลักษณะ Neutral-Slightly Dovish ได้ ทำให้หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด แต่กลับสะท้อนการชะลอลงของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก็อาจพอช่วยให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แม้ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญแรงกดดันจากปัญหาการเมืองในยุโรป ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ยังเสี่ยงผันผวนอ่อนค่า หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้
  • ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI ยอดค้าปลีก และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อนึ่งเราประเมินว่าในการประชุม BOE เดือนมิถุนายน นั้น BOE จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% และอาจยังส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI แม้จะชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงเกิน 3% พอสมควร ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจพอช่วยพยุงค่าเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองยุโรป โดยเฉพาะ สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม นี้ โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน และสามารถกดดันให้เงินยูโร (EUR) และตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มอ่อนค่าลง/ปรับตัวลดลงในระยะสั้นได้
  • ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีก ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ควรรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% และ 6.25% จนกว่าจะมั่นใจว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ และค่าเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้น (สำหรับ BI)
  • ฝั่งไทย – ประเด็นสำคัญที่ควรจับตาในระยะสั้นคือ สถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีการเมืองที่สำคัญ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นี้ โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์